<< Go Back

การปั้นหล่อพระพุทธรูป

 
ที่มาของภาพ : http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/traditional-craftsmanship/241-craft/76-----m-s


       การปั้นหล่อพระพุทธรูปแบบไทยประเพณี เป็นงานช่างแขนงหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ของไทย จัดอยู่ในกลุ่มงานช่างหล่อซึ่งต้องเกี่ยวเนื่องกับงานปั้น เนื่องจากเมื่อจะทำรูปโลหะหล่อก็ต้องจัดการปั้นหุ่นรูปนั้นๆ ขึ้นเสียก่อน แล้วจึงเปลี่ยนสภาพรูปหุ่นนั้นเป็นรูปโลหะหล่อ กระบวนการแต่ละขั้นตอนจึงมีความสัมพันธ์กัน การปั้นหล่อพระพุทธรูปแบบประเพณีมีขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้
       การปั้น เริ่มจากการขึ้นหุ่นและการปั้นดินแกนหรือดินหุ่นเพื่อเป็นหุ่นแกนทรายชั้นใน ขั้นตอนต่อไปคือ การทำรางรูป ตัววี ทั้งรางแกนและรางกิ่ง เพื่อเป็นทางให้โลหะหลอมละลายไหลเข้าแม่พิมพ์แทนที่ขี้ผึ้งที่ถูกขับไปจากแม่พิมพ์ จากนั้นเป็นงานทาดินมอม คือ การลงนํ้ายาชนิดหนึ่งประกอบด้วยผงขี้เถ้า ดินเหนียว และนํ้าพอสมควรผสมเข้าด้วยกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้พื้นผิวหุ่นเรียบแน่น ตามด้วยงานทาเทือกคือการลงนํ้าเมือกชนิดหนึ่งสำหรับงานหล่อโลหะประกอบด้วยขี้ผึ้งแท้ นํ้ามันยาง เคี่ยวให้เข้ากันจนข้น เพื่อทำให้ผิวของหุ่นแกนทรายพร้อมสำหรับขั้นตอนการเข้าขี้ผึ้งหรือหุ้มขี้ผึ้งจากนั้น จึงเป็นการปั้นแต่งรายละเอียดของประติมากรรมต้นแบบให้สมบูรณ์
       การทำแม่พิมพ์ เริ่มจากการทาดินนวล คือ ดินเหนียวตากแห้ง ป่นร่อนเป็นผงดินละเอียด ผสมนํ้าขี้วัว กวนให้เข้ากัน นำมาทาทับรูป ๓ ครั้ง แต่ละครั้งต้องผึ่งดินนวลให้แห้งเสียก่อน จากนั้นเป็นการตอกทอย ซึ่งเป็นเหล็กเส้นสั้นๆ ปลายแหลมตอกผ่านขี้ผึ้งไปติดหุ่นแกนทรายให้แน่น เพื่อยึดหุ่นแกนทรายกับแม่พิมพ์ชั้นที่ ๑ มิให้เคลื่อนเวลาสุมไฟไล่ขี้ผึ้ง จากนั้นติดสายชนวนขี้ผึ้ง เพื่อเป็นทางขับขี้ผึ้งจากแม่พิมพ์ ขั้นตอนต่อไปเป็นการทับดินอ่อน คือ ดินนวลผสมกับทรายละเอียดและนํ้า นวดให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว โดยพอกทับรูปขี้ผึ้งที่ตอกทอยและติดสายชนวนขี้ผึ้งเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นแม่พิมพ์ชั้นที่ ๑ จากนั้น พอกทับด้วยดินแก่ คือ ดินที่มีส่วนผสมเป็นดินเหนียวและทรายละเอียดเจือนํ้า ขยำจนเป็นเนื้อเดียวกัน โดยพอกให้มีความหนากว่าดินอ่อนเล็กน้อยเพื่อเป็นแม่พิมพ์ชั้นที่ ๒ ตามด้วยการเข้าลวด คือ การเอาลวดรัดขัดร้อยเป็นตารางสี่เหลี่ยม เพื่อมาล้อมรัดแม่พิมพ์ป้องกันความร้อนหรือความกดดันภายในที่อาจเบ่งให้แม่พิมพ์แตกจากนั้นเป็นการเข้าดินทับปลอก คือ การนำดินแก่พอกทับแม่พิมพ์ชั้นที่ ๒ ที่เข้าลวดรัดไว้ เพื่อเป็นแม่พิมพ์ชั้นที่ ๓ ผึ่งแม่พิมพ์ให้แห้ง ๔-๗ วัน ต่อมาทำปากจอบหรือช่องกลวง ซึ่งทำขึ้นสำหรับเททองลงไปในแม่พิมพ์ และทำรูผุดริมขอบแม่พิมพ์ซึ่งทำเป็นช่องกลวงสำหรับระบายอากาศ

ที่มาของภาพ : http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/traditional-craftsmanship/241-craft/76-----m-s

     การหล่อโลหะ หรือ การเททอง เริ่มจากการล้มหุ่น คือการเคลื่อนย้ายแม่พิมพ์ที่หุ้มหุ่นขี้ผึ้งไปยังบริเวณที่จะเททองและการขึ้นทน คือการยกแม่พิมพ์กลับเอาด้านล่างขึ้นมาตั้งบนแท่นที่จะเททอง ทำนั่งร้าน และติดรางถ่ายขี้ผึ้ง เพื่อเป็นรางรองรับขี้ผึ้งที่ถูกละลายออกมาจากแม่พิมพ์ ต่อจากนั้นคือการสุมแม่พิมพ์โดยสุมไฟให้แม่พิมพ์ร้อนจัดจนสำรอกขี้ผึ้งออกไปจากแม่พิมพ์ ตามด้วยการหลอมทองให้ละลาย และนำไปเทลงใส่แม่พิมพ์หลังจากที่ทองเย็นตัวลงแล้ว จึงทุบแม่พิมพ์ รื้อลวดที่รัดออกตกแต่งความเรียบร้อยหลังการหล่อ ตามด้วยการรมดำ หรือลงรักปิดทองเป็นลำดับสุดท้าย
     กรรมวิธีการปั้นหล่อพระพุทธรูปตามขนบประเพณีแบบโบราณของไทย สะท้อนถึงภูมิปัญญาในการเลือกใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีเทคนิคการหล่อที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถหล่อเนื้อโลหะได้บาง ด้านในพระพุทธรูปกลวง งานช่างปั้นหล่อพระพุทธรูป จึงถือว่าเป็นงานประติมากรรมพุทธศิลป์ที่ทรงคุณค่า และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด


http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/traditional-craftsmanship/241-craft/76-----m-s