<< Go Back 

พระพุทธรูปทรงเครื่อง หรือพระพุทธรูปปางปราบพระยาชมภู

           เป็นพระพุทธรูปที่ฉลองพระองค์ทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์ เช่น สวมมงกุฎ กรองศอทับทรวง ฉลองพระบาท ฯลฯ เกี่ยวกับคติความเชื่อในการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ มีข้อสันนิษฐานไว้หลายประการด้วยกัน คือ ประการแรกสร้างตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธ ลัทธิเถรวาท สร้างตามพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระมหาชมภู ซึ่งเป็นเรื่องราวการอธิบายทางประติมานวิทยาของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในมหาชมภูบดีสูตรว่า "พระมหาชมภู เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีบุญญาธิการและมีฤทธานุภาพมาก ไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตพระองค์เป็นอย่างพระมหาจักรพรรดิ ทรงแสดงธรรมโปรดจนพระมหาชมภูลดทิฐิมานะ หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา" ประการที่สอง หมายถึง คติที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเทวราชา ผสมผสานกับพุทธราชา ตามลัทธิเทวราช และอีกประการหนึ่ง ตามคติพุทธศาสนามหายาน อาจจะหมายถึง อนาคตพุทธเจ้า

พระพุทธรูปปางต่างๆพระพุทธรูปทรงเครื่อง 

           เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓) ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔) พระพุทธรูปทรงเครื่องแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบทรงเครื่องใหญ่ และแบบทรงเครื่องน้อย นอกจากนี้แล้วยังนิยมทำพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนประทานอภัย ๓ แบบ คือ ๑.ประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ เรียก ปางห้ามสมุทร ๒.ประทานอภัยพระหัตถ์ขวา เรียก ปางห้ามญาติ และ ๓.ประทานอภัยพระหัตถ์ซ้าย เรียก ปางห้ามพระแก่นจันทน์ ส่วนพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับนั่ง นิยมทำปางมารวิชัย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรือง ได้ทรงสร้าง พระพุทธรูปจำนวนมาก เช่น พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระเสรฐตมมุนี พระพุทธไตรรัตนายก (หลวงพ่อโต) พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นพระนอนที่มีความงดงามโดยเฉพาะที่ฝ่าพระบาท ทำเป็นลายประดับมุกภาพมงคลร้อยแปด และพระองค์ยังทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปางห้ามสมุทรถือเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปทรงเครื่องใน สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเป็นพุทธลักษณะทรงเครื่องใหญ่เต็มยศ ประดับกระจกหรือเนาวรัตน์ทั้งองค์

พระแก้วมรกต พระพุทธรูปทรงเครื่อง

 

           พระพุทธรูปทรงเครื่องในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนมากนิยมทำปางห้ามสมุทร พระพักตร์ดูเรียบเฉยเหมือนหน้าหุ่นตัวพระของโขน ยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประทับอยู่บนฐานที่ลดหลั่นกันหลายชั้น ลวดลายละเอียด งดงาม มีผ้าทิพย์ประกอบดูรับกับองค์พระทรงเครื่องทั้งยังมีฉัตรประกอบทุกองค์ แม้แต่พระสาวกส่วนบัวที่อยู่ชั้นในสุดมีการทำลวดลายอย่างละเอียด เชื่อว่าได้แรงบันดาลจากพระแก้วมรกตในเครื่องทรงชุดประจำฤดูร้อน ยังมีปรากฏพระพุทธรูป แบบจีวรดอก คือลวดลายดอกดวงที่จีวร เชื่อว่าได้รับอิธิพลมาจากพระแก้วมรกตในเครื่องทรงชุดประจำฤดูฝน

ที่มา http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538707235&Ntype=40

    << Go Back