<< Go Back 
กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา

               ส่วนพระนครศรีอยุธยานั้นเกิดขึ้นบนชุมทางลำน้ำใหญ่และสาขา ซึ่งล้วนเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำแทบทั้งสิ้น รวมทั้งเป็นตำแหน่งที่เกิดเป็นแม่น้ำใหญ่ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า "แม่น้ำ" ไหลจากอยุธยาลงใต้ ผ่านกรุงเทพฯ และสมุทรปราการไปออกทะเลที่อ่าวไทย


ภาพวาดเกาะเมืองอยุธยา โดยโยฮันเนส วิงโบเนส์ จิตรกรชาวดัตช์  แสดงเครือข่ายคูคลองและลำน้ำในและนอกเกาะเมือง  รวมทั้งเห็นแนวกำแพงและป้อมที่รายล้อมรอบเมือง ตลอดจนที่อาศัยของชาวบ้านตามแนวชานพระนคร

               อยุธยาอุบัติขึ้นจากการขานรับการขยายตัวของการค้าทางทะเลกับจีนตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์หมิง ดังเห็นได้จากในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มีขบวนเรือสำเภาจีนขนาดใหญ่ ภายใต้การนำของนายพลเจิ้งโห เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีการค้าขาย ระบบบรรณาการกับบ้านเมือง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การย้ายตำแหน่งเมืองจากอโยธยาในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมายังพื้นที่ใหม่ทางตะวันตกของอโยธยานี้ ทำให้เกิดเมืองอยุธยาที่มีลำน้ำล้อมรอบถึง ๓ ด้าน คือ ลำน้ำป่าสักด้านตะวันออก ที่เคยเป็นพื้นที่เมืองอโยธยา ซึ่งมีทุ่งหันตราและทุ่งพระอุทัยเป็นที่รับน้ำ ด้านตะวันตกสัมพันธ์กับลำน้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำน้อย ไหลจากอำเภอเสนา และอำเภอบางบาล
               ส่วนด้านเหนือนั้นมีลำน้ำใหญ่ และลำน้ำแพรกอันเป็นสาขาประดังเข้ามาถึง ๓ สาย คือ แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำบางแก้ว และสาขาของแม่น้ำน้อยที่รวมกับแม่น้ำบางแก้วเป็นแม่น้ำมะขามหย่อง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "แม่น้ำเจ้าพระยา" เกิดท้องทุ่งระหว่างแม่น้ำมากมาย เช่น ทุ่งมะขามหย่อง ทุ่งภูเขาทอง ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ทุ่งลุมพลี ทุ่งบางปะกัน ทุ่งวัดนนทรี เป็นต้น
               จากการเป็นพื้นที่ชุมทางของแม่น้ำ และลำน้ำที่เป็นเส้นทางการคมนาคมดังกล่าว ทำให้พระนครศรีอยุธยาเติบโตและเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในช่วงเวลา ๔๐๐ ปี ตั้งแต่การเกิดของเมืองใน พ.ศ.๑๘๙๓ จนถึงกาลเวลาสิ้นสุดลงใน พ.ศ.๒๓๑๐ โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ สมัย คือ สมัยอยุธยาตอนต้น อยุธยาตอนกลาง และอยุธยาตอนปลาย


ภาพถ่ายดาวเทียมของเกาะเมืองอยุธยา ที่สนับสนุนคำกล่าวที่ว่า "แม่น้ำทุกสายมุ่งสู่อยุธยา" โดยตอนเหนือมีแม่น้ำลพบุรี ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีแม่น้ำป่าสัก ส่วนทางตะวันตกและใต้ของเกาะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา  จึงทำให้พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าภายใน ทำการค้ากับนานาชาติจนร่ำรวยมั่งคั่ง

 

               สมัยอยุธยาตอนต้น บริเวณสำคัญของเมืองอยู่โดยรอบบึ่งพระรามหรือหนองโสน มีพระราชวังอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์อยู่ในอาณาบริเวณที่เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีวัดพระรามซึ่งมีพระปรางค์เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ สร้างขึ้น ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระปรางค์วัดมหาธาตุ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) สร้างให้เป็นพระบรมธาตุของเมืองพระนครศรีอยุธยา นับได้ว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของพระนครในยุคนั้น และพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้าง ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
               พระปรางค์ทั้งสามองค์นี้นับเป็นอัตลักษณ์ทางศิลปะสถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
               พอมาถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา กรุงศรีอยุธยาเติบโตกว่าเก่า มีการขยายแหล่งที่อยู่อาศัย และการสร้างวัดวามากขึ้น ทั้งภายในเกาะเมือง และบริเวณสองฝั่งน้ำลำคลองโดยรอบ เป็นสมัยที่กรุงศรีอยุธยารวมนครศรีธรรมราช สุโขทัย นครราชสีมา และเมืองใกล้เคียงในเขตกัมพูชา และลาวเข้าไว้ในราชอาณาเขต อีกทั้งมีการปฏิรูปการปกครอง และการบริหารที่ทำให้เป็นรัฐรวมศูนย์ของสยามประเทศ
               ภายในพระนครมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่เป็นศูนย์อำนาจ ด้วยการสร้างพระบรมมหาราชวังที่เป็นแบบอย่างเหมือนกับอาณาจักรใหญ่ๆ ในอดีต เช่น เมืองพระนคร จีน และพุกาม
               สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังเดิมไปอยู่ทางตอนเหนือติดกับคลองเมืองด้านที่เป็นลำน้ำลพบุรี สร้างวัดพระศรีสรรเพชญดารามขึ้นในบริเวณซึ่งเป็นพระราชวังเดิม และให้อยู่ภายในกำแพงของพระราชวังชั้นนอก


ภาพถ่ายดาวเทียมของเมืองโบราณนครชัยศรี อันถือเป็นแม่แบบของอยุธยา ที่เกิดจากเส้นทางคมนาคมทางน้ำล้อมรอบ ทำให้เป็นมหานครในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ในภาพเห็นลำน้ำบางแก้วไหลผ่านจากพระปฐมเจดีย์ผ่าเข้ากลางเมืองโบราณ แล้วออกไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีน

               พระราชวังชั้นกลางมีการสร้างพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทขึ้น เพื่อเป็นท้องพระโรงว่าราชการและประกอบพระราชพิธีสำคัญของราชอาณาจักร รวมทั้งต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ มีพระราชวังชั้นในอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และที่อยู่อาศัยของข้าราชสำนักฝ่ายใน
               ณ วัดพระศรีสรรเพชญดาราม มีพระพุทธรูปยืนห่อหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปสำคัญของราชอาณาจักร ประดิษฐานในพระวิหารหลวง ๑๑ ห้อง ที่นอกจากเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่บรรดาเจ้านาย ขุนนาง และข้าราชการต้องถือสัตย์ปฏิญาณเพื่อความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ มีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ประจำรัชกาลถึง ๓ องค์ เป็นพระสถูปทรงกลมแบบสุโขทัย อันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนความสำคัญจากการสร้างพระปรางค์แบบสมัยอยุธยาตอนต้น มาเป็นพระสถูปทรงกลมในสมัยอยุธยาตอนกลาง
               ความเจริญของกรุงศรีอยุธยาตอนกลางรุ่งเรืองมาถึงรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช ที่มีการสร้างพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักรขึ้นในพระนคร สร้างเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรขึ้นเป็นเมืองด่านสองฝั่งน้ำเจ้าพระยา อันเป็นเส้นทางคมนาคมมาถึงกรุงศรีอยุธยา และเกิดชุมชนบ้านเมืองเป็นระยะจากปากน้ำเจ้าพระยามาถึงเมืองหลวง
               หลังรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช ความรุ่งเรืองของบ้านเมืองชะงักงันอันเนื่องมาจากเกิดสงครามไทยรบพม่า จนกลายเป็นประเทศราชของพม่าในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช อยุธยาอ้างเหตุกับพม่าในเรื่องการรุกรานของเขมร เพื่อสร้างและขยายตัวเมือง ด้วยการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการก่ออิฐถือปูนมาจรดริมแม่น้ำและคลองเมืองทุกด้าน ขุดคลอง สร้างถนน สร้างสะพาน เพื่อใช้ระยายน้ำและคมนาคมอย่างมีระเบียบแบบแผนเหมือนเมืองทางตะวันตก
               โครงสร้างและผังเมืองดังกล่าวนี้ได้ขานรับการฟื้นฟูบ้านเมือง และราชอาณาจักรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ หลังจากอยุธยาเป็นเอกราชจากพม่า

               นอกจากความเป็นเมืองน้ำแล้ว อยุธยายังอุดมไปด้วยท้องทุ่งระหว่างลำน้ำต่างๆไม่ว่าจะเป็นทุ่งมะขามหย่อง ทุ่งภูเขาทอง ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ทุ่งลุมพลี ฯลฯ รอบๆ เกาะเมืองและยังมีอยู่ในเขตอำเภอต่างๆ ของอยุธยาด้วย เช่น ทุ่งมหาราช ทุ่งพระอุทัย ทุ่งบางปะหัน ทุ่งบางบาล
    << Go Back