<< Go Back

เครื่องดนตรีไทยประเภทดีด  
              คือเครื่องดนตรีประเภทที่มีสาย ตั้งแต่สายเดียวจนถึง 7 สาย เกิดเสียงได้โดยการดีดด้วยมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างหนึ่งกดสายตามเสียงที่ต้องการ ลักษณะของเครื่องดนตรีประเภทนี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็นกระพุ้ง บางทีก็เรียกว่า “กะโหลก" เพื่อสำหรับทำให้เสียงที่ดีดดังก้องกังวาน มีคันทวน ลูกบิด สะพานหนู หรือนม เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดเสียง แต่เดิมเครื่องดนตรีที่มีสายใช้ดีด เราเรียกตามบาลีและ สันสฤกษว่า “ พีณ “ ต่อมาบัญญัตชื่อเรียกใหม่ตามรูปร่าง ตามวัสดุ หรือตามภาษาของชาตินั้นๆ เช่น กระจับปี่ พิณน้ำเต้า พิณเพี๊ยะ และจะเข้ เป็นต้น เครื่องดนตรีไทยประเภทนี้มีหลายชนิด แต่ที่นิยมเล่น กันแพร่หลาย ในปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่ชนิด คือกระจับพิณและจะเข้

ตัวอย่างเครื่องดนตรีไทยประเภทดีด  


พิณน้ำเต้า
ที่มาภาพ : http://www.krudontreetube.com/musicvideo.php?vid=430939059
              พิณน้ำเต้า
              เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดที่มีสายเดียวชนิดนี้เข้าใจว่าชาวอินเดียนำมาแพร่หลายอยู่ในดินแดนแหลมอินโดจีนก่อนแล้วขอมโบราณ  หรือเขมรรับช่วงไว้ก่อนที่ชาวไทยจะอพยพลงมาถึงที่เรียกพิณน้ำเต้าก็เพราะนำผลเปลือกน้ำเต้ามาทำเป็นกระพุ้ง
              ส่วนประกอบของพิณน้ำเต้ามีดังนี้
                            • กะโหลก ทำด้วยผลเปลือกน้ำเต้า ตัดครึ่งลูก โดยเอาจุกหรือทางขั้วไว้ เจาะตรึงติดกับไม้คันพิณ ซึ่งเรียกว่า “คันทวน“
                            • คันทวน ทำด้วยไม้ เหลาให้มีลักษณะกลมเรียวยาว หัวใหญ่ปลายโค้งงอ ยอดสุดกลึงเป็นรูป
                            • เม็ด สำหรับผูกสาย ส่วนตอนหัวกลึงเป็นรูปเม็ด แต่ใหญ่กว่าตอนยอด เพื่อสวยงาม
                            • ลูกบิดทำด้วยไม้กลมเรียวเล็กตอนหัวกลึงเป็นเม็ดประกอบลูกแก้วตอนปลายเรียวเล็ก เพื่อสอดใส่เข้าไปในคันทวน และให้ปลายโผล่เพื่อพันผูกสาย
                            • รัดอกทำด้วยเชือกสำหรับโยงมัดสายกับคนทวนเหนือขั้วผลน้ำเต้าสูงพอประมาณเพื่อให้สายตึงได้เสียงที่ไพเราะ
                            • สาย แต่เดิมใช้เส้นหวาย ต่อมาใช้สายไหม ปัจจุบันใช้สายทองเหลือง โดยพันจากปลายลูกบิดไปยังปลายคันทวนที่โค้งงอ
              หลักการดีด
              ผู้ดีดไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับคันทวน ให้กะโหลกพิณประกบแนบชิดติดเนื้อตรงอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น ใช้มือขวาดีดสาย ขณะดีดจะขยับกะโหลกน้ำเต้าเปิด-ปิดอยู่ตรงทรวงอก เพื่อให้เสียงสั่นระริก

               พิณเพี๊ยะ(พิณเปี๊ยะ หรือเปี๊ยะ)
               เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดที่เก่าแก่ของชาวลานนา ( เหนือ ) มีสายตั้งแต่ 2 สาย ถึง 7 สาย เดิมใช้เป็นเครื่องดีดสำหรับแอ่วสาว นิยมดีดเพลงที่มีทำนองช้าๆ เช่น เพลงปราสาทไหว มีส่วนประกอบดังนี้                               • กะโหลก ทำจากผลกะโหลกมะพร้าวแห้ง ตัดครึ่งลูก ขัดเกลาให้บาง ผูกติดกับคันเพี๊ยะโดยมีไม้กลึงท่อนเล็กๆเจาะรูร้อยเชือก เชื่อมระหว่างกะลาตอนบนกับคันเพี๊ยะ
                             • คันเพี๊ยะ หรือคันทวน ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เหลากลมเรียวยาว ตอนปลายทำด้วยโลหะเป็นรูปนกหัสดีลิง เพื่อพันผูกสาย ตอนโคนใหญ่เจาะรู ๒ รู เพื่อสอดใส่ลูกบิด
                             • ลูกบิด ทำด้วยไม้ หัวเรียวใหญ่ ปลายเล็กเพื่อสอดใส่ในรูคันเพี๊ยะ
                              • สาย ทำด้วยสายป่าน ต่อมาใช้สายลวด หรือสายทองเหลืองโดยโยงจากปีกนกหัสดีลิงไปพันผูกที่ลูกบิด
                              • รัดอก ทำด้วยเชือก โดยรัดสายเพี๊ยะให้ติดกับคันทวน ซึ่งใช้เชือกเส้นเดียวกันกับเชือกที่ผูกกะลาที่ติดกับคันเพี๊ยะนั่งเอง
               หลักการดีดเพี๊ยะ
              ผู้ดีดจะยืนไม่สวมเสื้อมือซ้ายจับคันเพี๊ยะหงายมือให้คันเพี๊ยะอยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้   ให้กระโหลกของเพี๊ยะปิดเนื้อทรวงอกพอดี เวลาดีดจะเปิดกะลากับทรวงอกให้เสียงดังกังวาน มือขวาดีดโดยการคว่ำมือ ให้คันเพี๊ยะอยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ เวลาดีดใช้นิ้วนาง กลาง และก้อย
               วิธีดีดพิณ
               1.เสียงป็อกคือการดีดที่ใช้นิ้วนางดีดสายเรียงลำดับ3จุด
               2.เสียงใหลคือการเลื่อนใหลมือในขณะดีด
               3. เสียงจก คือการดีดที่ใช้นิ้วก้อยของมือขวา

               กระจับปี่
               เป็นพิณชนิดหนึ่ง มี ๔ สาย กระพุ้งพิณมีลักษณะ เป็นกล่องแบน รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูมุมมนด้านหน้าทำเป็นช่อง ให้เสียงกังวาน ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและกลมกลึงปลายแบน และงอนโค้งไปด้านหลัง ตรงปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้ สำหรับขึ้นสาย ๔ ลูก สายส่วนมากทำด้วยสายเอ็น หรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น "สะพาน" หรือ นม ปักทำด้วยไม้ เขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหมุนสายมี ๑๑ นมกระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนูตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่มีมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย


กระจับปี่
ที่มาภาพ : http://www.krudontreetube.com/musicvideo.php?vid=decfe059d
               ส่วนประกอบของกระจับปี่มีดังนี้
                              • ตัวกะโหลก ทำด้วยไม้แผ่นบางๆมีลักษณะ แบนกลมรีคล้ายกีต้าฝรั่ง ภายในเป็นโพรงไม้แผ่นหน้าตรงกลางเจาะรูเป็นวงกลมเพื่อระบายเสียงส่วนด้านหลังมีแผ่นไม้บางๆปิดตลอด
                              • คันทวน ทำด้วยไม้ท่อน ยาวเรียวต่อจากกะโหลก ด้านหลังมน ด้านหน้าแบน เพื่อติดนม ตอนปลายทำให้แบนและบานปลายแบะผายออกไปก่อนถึงปลายคันทวน เจาะรู 4 รู เพื่อสอดใส่ลูกบิดข้างละ 2 อัน
                              • รางลูกบิด ทำด้วยไม้ เป็นรูปยาว หัวโค้ง ปลายตัดตรงติดกับซุ้มหย่อง ตอนกลางเป็นร่องโปร่ง ให้สายผ่านไปยังลูกบิด
                              • ลูกบิด ทำด้วยไม้ ลักษณะเรียวยาว กลึง หัวเป็นลูกแก้วประดับเม็ดเจาะรูปลายเพื่อสอดใส่ที่ปลายคันทวนด้านละ 2 ลูก
                              • ซุ้มหย่อง ทำด้วยไม้ลักษณะด้านล่างเป็นขา 2 ขา ด้านบนเป็นทรงแหลมตอนกลางโปร่งบากเป็นช่องเล็กๆ 4 ช่อง เพื่อรับสายทั้ง 4 เส้นไม่ให้ชิดติดกัน ตัวซุ้มติดอยู่บริเวณปลายคันทวนต่อจากรางลูกบิด
                              • นม ทำด้วยไม้เล็กๆ ติดนูนขึ้นมาบริเวณกลางคันทวนเรียงตามลำดับ 11 นม
                              • หย่อง ทำด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ติดอยู่ที่หน้ากะโหลก ก่อนถึงรูระบายเสียง สำหรับหนุนสายให้ลอยตัว เหนือนมทั้ง 11 อัน
                              • หลักผูกสายทำด้วยโลหะเป็นแผ่นยึดติด ที่หน้ากะโหลกด้านล่างมีรูสำหรับผูกสายทั้ง 4 เส้น
                              • สาย ทำด้วยสายไหม มี 4 เส้นโดยผูกจากหลัก ขึงเป็นคู่ผ่านหย่อง นม ซุ้มหย่อง และรังลูกบิดไปยังพันผูกที่ปลายลูกบิด
                             • ไม้ดีด ทำด้วยแผ่นไม้บางๆเช่นเดียวกับปิ๊คที่ดีดกีต้ากระจับปี่บางตัวประดิษฐ์ให้สวยงามขึ้นโดยปลายคันทวนด้านหน้าที่ผายแบะออกจะแกะเป็นลวดลาย นอกจากนั้นที่รูระบายและไม้แผ่นหน้าโดยรอบอย่างสวยงาม
               หลักการดีดกระจับปี่
               ผู้ชายจะนั่งท่าขัดสมาธิ ผู้หญิงนั่งในท่าพับเพียบ ให้กะโหลกวางอยู่บนหน้าตักหรือหน้าขา ใช้มือขวาจับไม้ดีด ซึ่งทำด้วยไม้แผ่นบางๆดีดปัดสายเข้า-ออก ในขณะเดียวกัน ก็ใช้นิ้วมือซ้ายกดที่สายแนบกับนม เพื่อให้เสียงสูง-ต่ำตามที่ต้องการ

               จะเข้
              จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่วางดีดตามแนวนอน ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แก่นขนุน เพราะให้เสียงกังวาลดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ ซึ่งมักใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้ให้เสียงออกดีขึ้น มีขาอยู่ตอนหัว ๔ ขา ตอนท้าย ๑ ขา มีสาย ๓ สาย คือ สายเอก(เสียงสูง) สายกลาง(เสียงทุ้ม) ทั้งสองสายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่นเป็นเกลียว สายที่สามเรียก สายลวด(เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลือง ทั้งสามสายนี้ขึงจากหลักตอนหัวผ่าน โต๊ะ (กล่องทองเหลืองกลวง) ไปพาดกับ "หย่อง" แล้วสอดลงไปพันกันด้านลูกบิด(ปักทำด้วยไม้หรืองา) สายละลูก โต๊ะนี้ทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น ระหว่างราง ด้านบนกับสายจะเข้ จะมีชิ้นไม้เล็ก ๆ ทำเป็นสันหนาเรียกว่า "นม" ๑๑ นม วางเรียงไปตามแนวยาว เพื่อรองรับการกด จากนิ้วมือขณะบรรเลง นมเหล่านี้มีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป ทำให้เกิดเสียงสูง-ต่ำ เวลาดีดจะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์ กลึงเป็นท่อนกลม ปลายเรียวแหลมมน ดีดปัดสายไปมา ไม้ดีดนี้จะพันติดกับนิ้วชี้มือขวา ส่วนมือซ้ายใช้กดนิ้วบนสายถัดจากนม ไปทางซ้ายเล็กน้อย เพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ


จะเข้
ที่มาภาพ : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=m-o-o-n&month=15-09-2008&group=19&gblog=1
              วิธีดีดจะเข้
              1. ดีดไม้ออกไม้เข้า
              2. ดีดเรียงเสียงขึ้นลง
              3. ดีดเสียงทิงนอย
              4. ดีดเก็บคือการดีดให้มีพยางค์ถี่ๆโดยตลอด
              5. ดีดรัวคือการดีดที่มีพยางค์ถี่ๆและเร็ว
              6.ดีดรูดสายลวดคือการใช้นิ้วรูดผ่านมหลายนมด้วยความเร็ว
              7.ดีดสะบัดคือการดีดแทรกพยางค์เสียงให้เร็ว ซึ่งมีทั้งสะบัดเสียงเดียวสะบัดสองเสียงและสะบัดสาม

              ซึง
               เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดอีกชนิดหนึ่งที่มี 4 สาย นิยมบรรเลงเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือ  ซึ่งเดิมใช้เป็นเครื่องดนตรีประจำตัวของผู้ชาย สำหรับไปแอ่วสาว เช่นเดียวกับพิณเพี๊ยะ ต่อมาได้นำมาผสมวงร่วมบรรเลงกับสะล้อซอและปี่จุมเรียกวงนี้ว่า "ดนตรีพื้นเมืองเหนือหรือวงล้านนา" สามารถบรรเลงเพลงของชาวล้านนาได้อย่างไพเราะ ซึง มีรูปร่างบางอย่างคล้ายคลึงกับกระจับปี่ แต่เล็กกว่า


ซึง
ที่มาภาพ : http://bansuntonmue.maeai.com/sueng.htm
              ส่วนประกอบดังนี้
                            • กะโหลก ทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งชิ้นเดียว ติดต่อกับคันทวนมีลักษณะแบนเป็นทรงรี ขุดคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรงมีไม้แผ่นบาง ตรงกลางเจาะรูกว้างพอประมาณเพื่อระบายเสียงที่ดีดให้ก้องกังวาน ( บางทีเจาะเป็นรูปหัวใจ ) ปิดด้านหน้าส่วนด้านหลังตัน
                            • คันทวนทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งชิ้นเดียวกับตัวกะโหลกโดยทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านหลังเกลาลบเหลี่ยมด้านหน้าเรียบเพื่อติดนม ตอนปลายผายด้านข้างออกก่อนถึงปลายคันทวนด้านหน้าเจาะเป็นร่องยาว 2 ร่องสำหรับสายผ่านไปพันผูกที่ปลายลูกบิด และด้านข้างเจาะรูกลมด้านละ 2 รูเพื่อสอดใส่ลูกบิด
                            • ลูกบิด ทำด้วยไม้เนื้อแข็งลักษณะกลม เรียวด้านหัวใหญ่ขนาดมือจับพอดีตรงกลางกลึงเป็นลูกแก้ว ตอนปลายเรียวเล็กเพื่อสอดใส่ในรูลูกบิดที่บริเวณปลายคันทวน
                            • หย่องบน ทำด้วยไม้เล็กๆสูงกว่านมเล็กน้อยโดยติดต่อลงมาจากช่องสายผ่านเพื่อหนุนสายให้ลอยเหนือนม
                            • ตะพานหรือนมทำด้วยไม้เล็กๆเหลาเป็นทรงสามเหลี่ยมติดที่ด้านหน้าคันทวนต่อจากหย่องบนเรียงลำดับ ๙ นมเพื่อกดให้ได้เสียง
                            • สายทำด้วยลวดทองเหลือง 4 เส้น โดยพันผูกจากลูกบิด แยกเป็นคู่ๆขึงขนานผ่านมายังหน้ากะโหลก ผ่านรูระบายผาดบน “ หย่องล่าง “ ซึ่งทำด้วยไม้เล็กเช่นเดียวกับหย่องบนติดที่หน้ากะโหลกเพื่อหนุนสายให้ผ่านนมและไปพันผูกที่หลักผูกสาย
                            • หลักผูกสายทำด้วยโลหะหรือแผ่นไม้บาง เจาะรูผูกสายติดอยู่บริเวณด้านล่างของกะโหลก
               หลักการดีด
                 ผู้ดีดนั่งท่าขัดสมาธิ ให้กะโหลกตั้งอยู่บนหน้าขาขวาและให้ปลายคันทวนชี้ไปทางซ้ายของผู้ดีด ใช้มือขวาจับไม้ดีดซึ่งทำด้วยเขาควายเหลาให้บางเรียวแหลม โดยผาดตามแนวของนิ้วชี้โผล่ปลายเล็กน้อย มีนิ้วหัวแม่มือคีบประกบกับนิ้วชี้ดีดบริเวณใกล้กับนมตัวสุดท้าย เสียงจะทุ้มไพเราะดี แต่ถ้าดีดใกล้รูระบายระบาย เสียงจะแหลม ในขณะเดียวกันใช้นิ้วชี้นางกลางและนิ้วก้อยของมือซ้าย กดสายลงตามช่องของนม เพื่อให้เกิดเสียงสูง-ต่ำตามที่ต้องการ
              วิธีการดีดซึง
              วิธีการดีดของซึงมี2อย่างคือ
              1.การดีดที่ใช้ไม้ดีดดีดปัดลงข่างล่างอย่างเดียวซึ่งเป็นการดีดแบบดั่งเดิม
              2.การดีดที่ใช้ไม้ดีดดีดปัดขึ้นลงสลับกัน ซึ่งจะได้ท่วงทำนองที่ไพเราะไปอีกแบบหนึ่ง

               พิณ(อีสาน) 
              เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดอีกชนิดหนึ่งมี 3 สาย นิยมใช้บรรเลงเล่นกัน ในภาคอิสานของไทย บรรเลงเดี่ยว  และบรรเลงผสมกับแคน โปงลาง ไห โหวด กลองฯเรียกว่า " วงดนตรีพื้นเมืองอิสาน " นอกนั้นยังใช้บรรเลงประกอบการเล่นหมอลำในชุดลำเพลินอีกด้วยพิณมีลักษณะคล้ายคลึงกับซึง ( เครื่องดีดของภาคเหนือ ) เพียงแต่มีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ส่วนประกอบของพิณมีดังนี้
                            • กะโหลก ทำด้วยไม้ลักษณะแบนรูปวงรี คล้ายใบไม้มีไม้แผ่นบางๆปิดหน้ากะโหลก ตรงกลางเจาะเป็นรูระบายเสียงหรือเจาะเป็นลวดลายสวยงาม
                            • คันทวน ทำด้วยไม้แท่งเดียวกับกะโหลกหลัง-หน้า มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมด้านหลังมนด้านหน้าแบนเพื่อติดนม ตอนปลายทวนโค้งงอนไปทางซ้าย บางคันแกะสลักเป็นหัวพญานาค
                            • รางลูกบิด บริเวณก่อนถึงปลายทวนเจาะเป็นช่องยาวพอประมาณเพื่อสอดสายผ่านลงไปพันผูกที่ลูกบิดด้านข้างทั้งสองเจาะรูสำหรับสอดใส่ลูกบิดโดย เจาะด้านซ้าย 2 รูและด้านขวา 1 รู
                            • ลูกบิด ทำด้วยไม้ กลึงหัวเป็นรูปเม็ดประกอบด้วยลูกแก้วตอนปลายเรียวเล็กเพื่อสอดใส่ไปในรูลูกบิด ให้ปลายโผล่ด้านในสำหรับพันผูกสาย
                            • หย่องบนทำด้วยไม้อันเล็กๆติดต่อจากช่องลูกบิดลงมาเพื่อหนุนสายให้ผ่านนม ตะพานหรือนม ทำด้วยไม้อันเล็กๆคล้ายหย่องบน แต่เล็กกว่าติดเรียงลำดับต่อมาจากหย่องบนมี 11 นมโดยติดที่คันทวนด้านหน้า
                            • สายใช้สายลวด๓เส้นโดยขึงจากหลัก ซึ่งทำด้วยแผ่นโลหะแปะติดบริเวณตอนล่างของกะโหลกผ่าน" หย่องล่าง " ซึ่งทำด้วยไม้เล็กๆหนุนให้สายผ่านหน้ากะโหลกผ่านนมหย่องบนลงไปยังช่อง  และพันผูกที่ปลายลูกบิดทั้งสามเพื่อบิดเร่งให้สายตึง หรือหย่อนได้ตามที่ต้องการ


พิณอิสาน
ที่มาภาพ : http://www.guitarthai.com/webboard/question.asp?QID=340740
              

หลักการดีดพิณอิสาน
                                  ปกติผู้ดีดจะยืนดีดโดยใช้ผ้าหรือเชือกผูกพิณคล้องคอ ให้ตัวกะโหลกอยู่กลางหน้าอกปลายชี้ขึ้นไปทางซ้ายของผู้ดีดใช้มือขวาจับไม้ดีด ซึ่งทำด้วยเขาควายเฉือนเป็นแผ่นบางๆ(ปัจจุบันใช้ปิคแทน ) ดีดปัดขึ้น-ลงในขณะเดียวกันใช้นิ้วของมือซ้ายกดที่สายใกล้กับนมเพื่อให้เกิดเสียง
              วิธีดีดพิณที่ทำให้เกิดเสียง
              1.ดีดผ่านทั้ง3สายโดยกดสายเส้นเดียวจะเกิดเสียงประสานขึ้น
               2.ดีดเป็นทำนองทีละสายพร้อมทั้งกดทีละเส้นตามท่วงทำนองเพลง
               3. ดีดรัว คือการดีดให้มีพยางค์ถี่ๆและเร็ว
               4. ดีดสะบัด คือการดีดให้มีพยางค์ ๓ พยางค์ ติดต่อกันด้วยความเร็วทั้งขึ้นและลง

 


http://don-tree-thai.blogspot.com/2011/01/blog-post_06.html
http://www.bs.ac.th/musicthai/page1.html
http://student.nu.ac.th/thaimusic_akez/deed.htm

     
    << Go Back