<< Go Back

ภาษาท่าทางนาฏศิลป์

                ภาษาท่าทางนาฏศิลป์  ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้มนุษย์เราใช้ท่าทางประกอบการพูดหรือบางครั้งมีการแสดงสีหน้า ความรู้สึก เพื่อเน้นความหมายด้วยในทางนาฏศิลป์ ภาษาท่าเสมือนเป็นภาษาพูด โดยไม่ต้องเปล่งเสียงออกมา แต่อาศัยส่วนประกอบอวัยวะของร่างกาย แสดงออกมาเป็นท่าทาง โดยเลียนแบบท่าทางธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ การปฏิบัติภาษาท่าทางนาฏศิลป์แบ่งออกได้ ดังนี้

   1. ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ที่ใช้แทนคำพูด เช่น ฉัน เธอ ท่าน ปฏิเสธ ท่าเรียก ท่าไป 
    2. ภาษาท่าทางนาฏศิลป์อิริยาบทหรือกิริยาอาการ เช่น ท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง 
    3. ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ที่ใช้แสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ เศร้าโศก

ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ที่ใช้แทนคำพูด

    การเปรียบเทียบท่าทางธรรมชาติ กับภาษาท่าของตัวพระและตัวนาง

ท่าแนะนำตัวเอง 

                เป็นการทำมือซ้ายตั้งวงหน้าแล้วพลิกข้อมือ เปลี่ยนเป็นจีบหันเข้าหาตัวระหว่างอกมือขวาเท้าสะเอว หรือจีบหลังก็ได้

ท่าท่าน

                เป็นการใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง โดยใช้ส่วนทั้งหมดของฝ่ามือในลักษณะของการตะแคงสันมือระดับศีรษะ นิ้วเหยียดตึงให้ปลายมือไปสู่ผู้ที่กล่าวถึง ผู้ที่อาวุโสหรือศักดิ์สูงกว่า

ท่าปฏิเสธ

                เป็นการใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งวงหน้า สั่นปลายนิ้วไปมาช้าๆ

ท่าเรียก

                เป็นการใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งวงด้านหน้า  แล้วกดข้อมือลง เดินมือเข้าหาตัวเล็กน้อย  เอียงตรงข้ามกับมือที่เรียก

ท่าไป

                เป็นการทำมือจีบหงายระดับไหล่ แล้วหมุนข้อมือเป็นจีบคว่ำลง หักข้อมือ ปล่อยจีบออกเป็นวง เอียงศีรษะตรงข้ามกับมือที่ทำ

ภาษาท่าแสดงกริยาอาการ

ท่านั่งตัวนางและตัวพระ

                ตัวพระ นั่งพับเพียบไปทางขวา แยกเข่าซ้ายออกให้เท้าซ้ายวางหน้าหัวเข่าขวา มือซ้ายเหยียดตึงแบมือตั้งบนเข่าซ้ายมือขวางอแขนแบมือตั้งบนขาขวา ลำตัวตั้งตรง 
                ตัวนาง นั่งพับเพียบไปทางขวา เชิดปลายนิ้วเท้ามาด้านหน้าเท้าขวาซ้อนบนเท้าซ้าย มือซ้ายแบมือวางบนขาขวาด้านนอก มือขวาแบมือวางถัดมาทางด้านใน งอแขนขวา เอียงขวา

ท่ายืน

                ตัวพระ ใช้เท้าขวายืนรับน้ำหนัก ส่วนเท้าซ้ายวางเท้าเหลื่อมเท้าขวา ตึงเข่าซ้ายเชิดปลายนิ้วเท้าขึ้น  มือขวาเท้าสะเอว  มือซ้ายแบฝ่ามือวางแนบไว้ที่หน้าขา  ศีรษะเอียงไปทางขวา กดไหล่ขวาลง 
                ตัวนาง  ยืนด้วยเท้าขวา เท้าซ้ายวางเหลื่อมไว้ เชิดปลายนิ้วเท้าซ้าย มือขวาจีบหงายที่ชายพก มือซ้ายแบมือวางบนหน้าขาซ้าย เหยียดแขนตึง ศีรษะเอียงซ้าย กดไหล่ซ้าย

ท่า นางไหว้ พระรับไหว้

                เป็นการพนมมือระหว่างอก แยกปลายนิ้วให้ออกจากกัน

ท่าเดิน

                ตัวพระ เริ่มด้วยการก้าวเท้าซ้ายมาข้างหน้า เท้าขวาเปิดส้นเท้า มือทั้งสองจีบคว่ำระดับเอวข้างลำตัวทั้งสองข้าง แล้วปล่อยจีบเป็นมือขวาตั้งวงล่างระดับเอว มือซ้ายตั้งมือทอดแขนข้างลำตัวเอียงขวา ต่อไปก้าวเท้าขวา ส่วนเท้าซ้ายเปิดส้นด้านหลัง มือทั้งสองจีบคว่ำ แล้วปล่อยจีบเป็นมือซ้ายตั้งวงล่าง มือขวาแบออกทอดแขนข้างลำตัวเอียงทางซ้าย ทำสลับกันไปเรื่อยๆ 
                ตัวนาง (ท่าเดินมือเดียว) เริ่มด้วยก้าวเท้าซ้ายด้านหน้า เท้าขวาเปิดส้น มือซ้ายทำจีบหงายที่ชายพกมือขวาแบมือตั้งแขนตึง แล้วหยิบจีบคว่ำแล้วเคลื่อนมือมาปล่อยเป็นวงล่างเอียงขวา ต่อด้วยก้าวเท้าขวาด้านหน้า เท้าซ้ายเปิดส้น มือซ้ายจีบหงายเหมือนเดิม หยิบจีบคว่ำที่ชายพก แล้วเคลื่อนมือขวาไปข้างลำตัว ปล่อยจีบเป็นมือแบแขนตึง กดไหล่และเอียงศีรษะไปทางซ้าย ทำสลับกันทั้งซ้ายและขวา

ภาษาท่าแสดงอารมณ์ความรู้สึก

ท่าดีใจ

                เป็นการใช้มือซ้ายกรีดจีบ หักข้อมือให้ปลายนิ้วชี้และหัวแม่มือหันเข้าหาใบหน้าให้อยู่ตรงกับปาก

ท่ารัก

                เป็นการทำมือทั้งสองตั้งวงไขว้กันระดับอก   แล้วหมุนข้อมือทาบลงที่ฐานไหล่

ท่าอาย

                เป็นการใช้ฝ่ามือแตะข้างแก้มใกล้ขากรรไกร ก้าวเท้าข้างที่มือแตะแก้มไขว้ไปอีกด้านตรงข้าม (ก้าวหลบคนที่เราอาย) ส่วนใหญ่เป็นท่าของตัวนาง

ท่าร้องไห้

                เป็นการใช้มือซ้ายแตะที่หน้าผาก มือขวาจีบหงายที่ชายพก ตัวพระมือขวาเท้าสะเอว ก้มหน้าเล็กน้อย พร้อมสะดุ้งตัวขึ้นเหมือนกำลังสะอื้น แล้วจึงใช้นิ้วชี้ซ้ายแตะที่นัยน์ตาทั้งสองข้าง เหมือนกำลังเช็ดน้ำตา

ท่าโกรธ

                เป็นการใช้ฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่งถูที่ก้านคอใต้ใบหูไปมา แล้วกระชากลง ถ้ากระชากเบาๆก็เพียงเคืองใจ แต่ถ้ากระชากแรงๆพร้อมทั้งกระทีบเท้าลงกับพื้นแสดงว่าโกรธจัด

ท่าโศกเศร้า, เสียใจ, ห่วงใย

                เป็นการประสานลำแขนส่วนล่าง ใช้ฝ่ามือทั้งสองวางทาบระดับหน้าท้องใกล้ๆกระดูกเชิงกราน

http://www.natasinthai.com/language.html

    << Go Back