<< Go Back 

           วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน
         วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่า วัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง วัฒนธรรมระดับต่ำ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม เป็นต้น แต่นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวถึงวัฒนธรรมว่า มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่หมายรวมถึงกระบวนการในการผลิตสินค้าและการให้ความหมายแก่สินค้านั้น ๆ ด้วย ทั้งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคม และแนวการปฏิบัติที่ทำให้วัตถุและกระบวนการผลิตหลอมรวมอยู่ด้วยกัน ในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงรวมไปถึง เทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม
         วัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนา อีกทั้งระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด

ประเภทของวัฒนธรรม
วัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
         - วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสุขทางกาย อันได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง
         - วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิดปัญญาและมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผนของขนบธรรมเนียมประเพณี
          นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่มักใช้คำ "วัฒนธรรม" ไปในเชิงของวิสัยสามารถของคนทั่วไปในการบ่งชี้ จัดหมวดหมู่และสื่อถึงประสบการณ์ของตน ในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ คนเราใช้วิสัยสามารถดังกล่าวสำหรับบ่งชี้เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่เกิดในหมู่มนุษย์ด้วยกันมานานมากแล้ว อย่างไรก็ตาม นักวานรวิทยาหรือไพรเมตวิทยาก็ได้บ่งชี้ลักษณะวัฒนธรรม ดังกล่าวในวานรหรือไพรเมตซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิด กับมนุษย์มากที่สุดมานานแล้วเช่นกัน และโดยนักโบราณคดีจะมุ่งเฉพาะไปที่วัฒนธรรมที่เป็นเรื่องราวเท่านั้น (ซากเรื่องราวที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์) ขณะเดียวกัน นักมานุษยวิทยาสังคมก็มองไปที่ปฏิสัมพันธ์ของสังคม สถานภาพและสถาบัน ส่วนนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมก็เน้นที่บรรทัดฐานและคุณค่า
          การแบ่งแยกแนวกันนี้ แสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขที่แตกต่างกันที่ขึ้นอยู่กับงานที่ต่างกันของนักมานุษยวิทยา และความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นจุดการวิจัย ที่ต้องชัดเจน จึงไม่จำเป็นว่าจะเป็นการสะท้อน ถึงทฤษฎีของวัฒนธรรมซึ่งย่อมแตกต่าง ไปตามเชิงของเรื่องราว เชิงสังคม และเชิงบรรทัดฐาน (norm) รวมทั้ง ไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงการแข่งขันกันเองในระหว่างทฤษฎีต่าง ๆ ของวัฒนธรรม

แนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม
              คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทย มาจากคำสองคำ คำว่า "วัฒน" จากคำศัพท์ วฑฺฒน" ในภาษาสันสกฤต หมายถึงความเจริญ ส่วนคำว่า "ธรรม" มาจากคำศัพท์ "ธรฺม" ในภาษาสันสกฤต หมายถึงความดี เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงได้คำว่า "วัฒนธรรม" หมายถึงความดีอันจะก่อให้เกิดความงอกงามที่เป็นระเบียบเรียบร้อย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ว่าเป็น "สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะ , ในพระราชบัญญัติวัฒนธรรม พ.ศ. 2485 หมายถึงลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน, ทางวิทยาการ หมายถึงพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่ของตน" แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามไว้ว่า "สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่นวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา" คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทยตามความหมายนี้ใกล้เคียงกับคำว่า "อารยธรรม" ส่วนคำว่า "culture" ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าวัฒนธรรมนั้น มาจากภาษาละติน คำว่า "cultura" ซึ่งแยกมาจากคำ "colere" ที่แปลว่า การเพาะปลูก ส่วนความหมายทั่วไปในสากล หมายถึงรูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ
          มีการกล่าวถึงวัฒนธรรมว่าเป็น "หนทางทั้งหมดแห่งการดำเนินชีวิต" ซึ่งรวมถึงกฎกติกาแห่งกิริยามรรยาท การแต่งกาย ศาสนา พิธีกรรม ปทัสถานแห่งพฤติกรรม เช่น กฎหมายและศีลธรรม ระบบของความเชื่อรวมทั้งศิลปะ เช่น ศิลปะการทำอาหาร


ที่มาของภาพ http://th.wikipedia.org/wiki/ วัฒนธรรม

        การนิยามที่หลากหลายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของทฤษฎีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ หรือทำให้เกิดเกณฑ์เพื่อใช้ในการประเมินกิจกรรมของมนุษย์ โดยในปี พ.ศ. 2414 เอ็ดเวิร์ด เบอร์เนต ไทเลอร์ ได้พรรณนาถึงวัฒนธรรมในมุมมองด้านมานุษยวิทยาสังคม ไว้ว่า "วัฒนธรรม หรือ อารยธรรม หากมองในเชิงชาติพันธุ์วรรณนาอย่างกว้าง ๆ ก็คือ ความทับซ้อนกันระหว่างความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม กฎหมาย ประเพณีและสมรรถนะอื่นที่มนุษย์ต้องการแสวงหาเพื่อการเป็นสมาชิกของสังคม"
      เมื่อปี พ.ศ. 2543 ยูเนสโก ได้พรรณนาถึงวัฒนธรรมไว้ว่า "...วัฒนธรรมควรได้รับการยอมรับว่าเป็นชุดที่เด่นชัดของจิตวิญญาณ เรื่องราว สติปัญญาและรูปโฉมทางอารมณ์ของสังคม หรือกลุ่มสังคม ซึ่งได้หลอมรวมเพิ่มเติมจากศิลปะ วรรณคดี การดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกัน ระบบคุณค่า ประเพณีและความเชื่อ"
       ถึงแม้ว่าการนิยามความหมายคำว่า "วัฒนธรรม" ของทั้งสองจะครอบคลุมแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับคำว่า "วัฒนธรรม" ที่มีการใช้กันอยู่ ในปี พ.ศ. 2495 อัลเฟรด ครูเบอร์ และไคลด์ คลักคอห์น ได้รวบรวมนิยามของคำ "วัฒนธรรม" ได้ถึง 164 ความหมาย ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือเรื่อง "วัฒนธรรม: การทบทวนเชิงวิกฤติว่าด้วยมโนทัศน์และนิยาม" (Culture: A Critical Review of Concepts and Definitions)
        นิยามดังกล่าวนี้ และอีกหลายนิยามช่วยทำให้เกิดองค์ประกอบของรายการวัฒนธรรม เช่น กฎหมาย เครื่องมือสมัยหิน การแต่งงาน ฯลฯ แต่ละอย่างนี้มีการเกิดและมีความไปเป็นชุดของมันเอง ซึ่งจะเกิดเป็นช่วงเวลาในชุดหนึ่งที่หลอมประสานกันแล้วก็ผ่านออกไปเป็นชุดอย่างอื่น ในขณะที่ยังเป็นชุด มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปทำให้เราสามารถพรรณนาได้ถึงวิวัฒนาการของกฎหมาย เครื่องมือฯ และการแต่งงานดังกล่าวได้
        ดังนั้น โดยนิยามแล้ว วัฒนธรรมก็คือชุดของเรื่องราวทางวัฒนธรรม นั่นเอง นักมานุษยวิทยาเลสลี ไวท์ ตั้งคำถามไว้ว่า "เรื่องราวเหล่านั้นคืออะไรกันแน่?" เป็นเรื่องราวทางกายภาพหรือ? หรือเป็นเรื่องราวทางจิตใจ ทั้งสองอย่าง? หรือเป็นอุปลักษณ์? ในหนังสือเรื่อง "วิทยาศาสตร์แห่งวัฒนธรรม" (Science Of Culture 2492) ไวท์สรุปว่ามันคือเรื่องราว "sui generis" นั่นคือ การเป็นชนิดของมันเอง ในการนิยามคำว่า ชนิด ไวท์มุ่งไปที่ "การสร้างสัญลักษณ์ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่มีผู้ใดตระหนักถึงมาก่อน ซึ่งเขาเรียกว่า "ซิมโบเลท" (the symbolate) คือ เรื่องราวที่เกิดจากการกระทำที่สร้างสัญลักษณ์ ดังนั้น ไวท์จึงนิยามว่า "วัฒนธรรม คือ ซิมโบเลทในเชิงของบริบทนอกกาย" คำสำคัญของนิยามนี้จึงได้แก่การค้นพบซิมโบเลทนั่นเอง
        ในการใฝ่หานิยามที่ใช้การได้ นักทฤษฎีสังคมชื่อ ปีเตอร์ วอลเตอร์ กล่าวง่าย ๆ ว่า วัฒนธรรมเป็น "การแลกเปลี่ยนเค้าร่างของประสบการณ์" ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ ภาษาศาสตร์ ศิลปะ ศาสนาและอื่น ๆ รวมทั้ง นิยามก่อน ๆ


ที่มาของภาพ http://th.wikipedia.org/wiki/ วัฒนธรรม

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/ วัฒนธรรม

    << Go Back