พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของร่างกายและแบบแผนของร่างกายทุกส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆเป็นขั้นตอน จากระยะหนึ่งไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้เด็กมีลักษณะและความสามารถใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เจริญก้าวหน้าตามลำดับทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา
พัฒนาการของมนุษย์ประกอบด้วยด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านร่างกาย หมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย
2. ด้านบุคลิกภาพ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน ได้แก่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และจิตใจ
3. ด้านความสัมพันธ์ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น
4. ด้านความคิด หมายถึง การเปลี่ยนแปลง ความรู้ ความเข้าใจและความคิดต่าง ๆ
พัฒนาการของมนุษย์จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่
1. วุฒิภาวะ คือความสามารถสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัย (ขั้น) เกิดจากพันธุกรรม ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์หรือการเรียนรู้
2. การเรียนรู้ คือการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความรู้ เนื่องจากได้รับประสบการณ์
ตัวอย่างของพัฒนาการ เช่น ความสามารถในการเขียนหนังสือ หากหัดให้เด็ก 2 ขวบ เขียนหนังสือ คงทำได้ลำบากหรือทำไม่ได้ เนื่องจากเขายังไม่มีวุฒิภาวะในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก (ปลายนิ้ว) ที่จะจับดินสอ ในทางตรงข้ามเด็ก 3 ขวบครึ่งที่มีวุฒิภาวะในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก (ปลายนิ้ว) ที่จะจับดินสอ หากไม่ได้รับการฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์ก็คงเขียนหนังสือไม่ได้ หรือได้ก็อาจไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นหากต้องการให้เด็กเขียนหนังสือได้ดีก็ควรรอให้มีวุฒิภาวะแล้วฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์ ในที่สุดเด็กก็จะเรียนรู้การเขียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาร์โนลด์ จีเซลล์ ได้สรุปหลักของพัฒนาการของมนุษย์ ได้ดังนี้
1. พัฒนาการของมนุษย์มีทิศทาง (Principle of Directions) ธรรมชาติได้กำหนดทิศทางของพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทิศทาง ได้แก่
1) ทิศทางจากส่วนบนลงสู่ส่วนกลาง (Cephalocaudal Law) เป็นการพัฒนาในแนวดิ่ง โดยยึดศีรษะเป็นอวัยวะหลัก คือ อวัยวะใดที่อยู่ใกล้ศีรษะมากที่สุด บุคคลก็จะสามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนนั้นได้ก่อนอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้นเด็กจึงขยับศีรษะได้ก่อนส่วนอื่นๆ
2) ทิศทางจากส่วนใกล้ไปสู่ส่วนไกล (Proximodistal Law) เป็นการพัฒนาในแนวขวาง โดยยึดลำตัวเป็นอวัยวะหลัก คืออวัยวะใดก็ตามที่อยู่ใกล้ร่างกายมากที่สุดจะสามารถควบคุมได้ก่อนส่วนอื่น ๆ ดังนั้นเด็กจึงขยับร่างกายได้ก่อนส่วนอื่น ๆ
2. พัฒนาการของมนุษย์มีลักษณะต่อเนื่อง (Principle of Continuity)
พัฒนาการใดด้านใดก็ตามต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เกิดได้โดยฉับพลันทันทีทันใด โดยเริ่มพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็ก และพัฒนาการถึงขีดสุดในวัยผู้ใหญ่ และเสื่อมลงเมื่อถึงวัยชราตามลำดับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตามลำดับ และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ร่างกาย
3. พัฒนาการของมนุษย์เป็นไปตามลำดับขั้น (Principle of Developmental Sequence)
พัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายต่างก็มีแบบแผนเฉพาะของตน เมื่อพัฒนาการมีลักษณะต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะข้ามขั้นได้ และเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น เด็กจะเริ่มพัฒนาการจากหงาย คล่ำ คืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน และวิ่ง เป็นต้น
4. พัฒนาการของมนุษย์ต้องอาศัยวุฒิภาวะและการเรียนรู้ (Principle of Maturation and Learning)
ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) ได้กล่าวว่า เราไม่มีทางแยกวุฒิภาวะกับการเรียนรู้ออกจากันได้โดยเด็ดขาด วุฒิภาวะนั้นเป็นความพยายามขั้นต้นของสิ่งมีชีวิตในการจัดระบบเพื่อเตรียมให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ต่าง ๆ อันยังประโยชน์ให้กับตนเอง ส่วนการเรียนรู้เป็นการเพิ่มความชำนาญให้กับประสบการณ์นั้น ๆ
5. พัฒนาการของมนุษย์แต่ละบุคคลมีอัตราแตกต่างกัน (Principle of Individual Growth Rate)
ด้วยวุฒิภาวะเป็นปัจจัยต่อการเกิดพัฒนาการของมนุษย์ดังนั้นช่วงชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นจะมีความถึงพร้อมซึ่งวุฒิภาวะแตกต่างกัน เช่น ในเด็กหญิงจะถึงวุฒิภาวะของความเป็นสาวเร็วกว่าการถึงวุฒิภาวะความเป็นหนุ่มของเด็กชาย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พัฒนาการของบุคคลนั้นมีอัตราที่ไม่เท่าเทียมกัน จากหลักของพัฒนาการดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุป ลักษณะเด่นของพัฒนาการได้ ดังน้
1. พัฒนาการเป็นไปตามแบบฉบับของตัวเอง
2. พัฒนาการไม่ว่าด้านใดก็ตามจะเริ่มจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อย ๆ
3. พัฒนาการทั้งหลายเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันไป
4. อัตราพัฒนาการของบุคคลจะแตกต่างกันไป
5. คุณลักษณะต่าง ๆ ของพัฒนาการจะมีความสัมพันธ์กัน
6. พัฒนาการเป็นสิ่งที่สามารถทำนายได้
7. พฤติกรรมที่มองแล้วว่าเป็นปัญหา แท้จริงอาจเป็นเพียงพฤติกรรมปกติตามลักษณะของพัฒนาการ
ขอขอบคุณ : 1.http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=kimmattic&month=11-2007&date=19&group=1&gblog=2
2.http://www.mitrprasarn.com/index.php/2010-02-03-13-06-48/123-2010-10-28-18-34-44/1522---development-