<< Go Back

1. เกมการแข่งขันขันบาสเกตบอล (Basketball game)
            บาสเกตบอลเป็นการเล่นที่ประกอบด้วยผู้เล่น 2 ทีม แต่ละทีมมีผู้เล่น 5 คน จุดมุ่งหมายของแต่ละทีมคือ ทำคะแนนโดย การโยนลูกบอลให้ลงห่วงประตูของฝ่ายตรงข้าม และป้องกันอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้ครอบครองบอลหรือทำคะแนน
2. ห่วงประตูฝ่ายตนเอง/ฝ่ายตรงข้าม (Basket : own/opponents’)
            ฝ่ายรุกทำคะแนนโดยนำลูกบอลโยนให้ลงห่วงประตูของฝ่ายตรงข้ามและป้องกันห่วงประตูของฝ่ายตนเอง
3. การเคลื่อนที่ของลูกบอล (Ball movement)
           ลูกบอลอาจจะถูกส่ง โยน ปัด กลิ้ง หรือเลี้ยงในทิศทางใดๆ ก็ได้ ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในกติกา
4. ผู้ชนะของเกมการแข่งกัน (Winner of a game)
           เมื่อสิ้นสุดเวลาการแข่งขันของช่วงการเล่นที่ 4 หรือถ้าจำเป็นต้องต่อเวลาพิเศษ ทีมที่มีคะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขัน

1. ประวัติบาสเกตบอลในต่างประเทศ
            กีฬาบาสเกตบอลได้กำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจาก ดร. เจมส์ เอ เนสมิท (James A. Naismith) ได้คิดขึ้นเพื่อเล่นในโรงพลศึกษาของโรงเรียนฝึกอบรมสมาคม Y.M.C.A. นานาชาติ (International Young Men’s Christian Association Training School) ที่เมืองสปริงฟิลด์ มลรัฐเมสซาชูเซตส์ ในช่วงที่หิมะตก เมื่อปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) ใช้ตะกร้าลูกพีช 2 ใบแขวนเป็นประตู จึงทำให้กีฬานี้ได้ชื่อว่า “บาสเกตบอล” (Basketball) การเล่นครั้งนั้นใช้ลูกฟุตบอลเล่น มีผู้เล่นทั้งหมด 18 คน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายๆ ละ 9 คน และตัวของ ดร.เนสมิท เป็นกรรมการ มีกฎการเล่น 4 ข้อ คือ

  1. ห้ามถือลูกเคลื่อนที่
  2. ห้ามผู้เล่นปะทะตัวกัน
  3. ประตูอยู่ระดับศีรษะและขนานกับพื้น
  4. ผู้เล่นจะถือลูกบอลนานเท่าไรก็ได้ และผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องไม่ถูกตัวผู้เล่น

ต่อมาได้มีการปรับปรุงกติกาการเล่นเป็น 13 ข้อ ดังนี้
     1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
     2. ผู้เล่นจะส่งบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
     3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
     4. ผู้เล่นต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล ห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
     5. ในการเล่นจะใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี หรือทำการใดๆให้ฝ่ายตรงข้ามล้มลงไม่ได้ ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาล์ว 1 ครั้ง ถ้า ฟาล์ว 2 ครั้ง หมดสิทธิ์เล่น จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำประตูกันได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
     6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าแตะลูก ถือเป็นการฟาล์ว 1 ครั้ง
     7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาล์วติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
     8. ประตูที่ทำได้หรือนับว่าได้ประตูนั้น ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้เด็ดขาด
     9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งลูกเข้ามาจากขอบสนามภายใน 5 วินาที ถ้าเกิน 5 วินาที ให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นฝ่ายใดพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาล์ว
     10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาล์ว และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
    11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งลูกเข้าเล่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลาบันทึกจำนวนประตูที่ทำได้ และทำหน้าที่ทั่วไปตามวิสัยของผู้ตัดสิน
     12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งๆ ละ 20 นาที
     13. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ในกรณีคะแนนเท่ากันให้ต่อเวลาออกไป และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ
สหรัฐอเมริกายอมรับการเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1892 ซึ่งได้มีการเล่นบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก จึงมีวิวัฒนาการเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอลหลายอย่าง ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1893 ได้มีการลดจำนวนผู้เล่นเหลือ 5 คน ต่อมาในปี ค.ศ. 1894 ได้มีการพัฒนาลูกบอลขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการเล่นและการแข่งขันโดยเฉพาะ ในปี ค.ศ. 1898 มีการเปลี่ยนประตูที่ทำด้วยตะกร้าเป็นห่วงเหล็กเพื่อความแข็งแรง และเริ่มใช้ตาข่ายติดกับห่วงเหล็ก ในปี ค.ศ. 1908 และในปี ค.ศ. 1915 สมาคม Y.M.C.A. สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ และสมาพันธ์กีฬาสมัครเล่น ได้ร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน กติกานี้ได้ใช้สืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1938 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นผู้พิจารณา
ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่ควบคุมและดำเนินงานเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล ระดับนานาชาติ ได้แก่ สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (The International Basketball Federation) ใช้ชื่อย่อว่า FIBA
2. ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มเล่นบาสเกตบอลมากว่า 60 ปีแล้ว มีหลักฐานยืนยันว่า ใน พ.ศ. 2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ ครูสอนภาษาจีน โรงเรียนมัธยมบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาบาสเกตบอลขึ้นเป็นครั้งแรก และทางกรมพลศึกษาได้จัดอบรมครูพลศึกษาทั่วประเทศ ประมาณ 100 คน ใช้เวลา 1 เดือน วิทยากรสำคัญในการอบรมครั้งนั้น ได้แก่ หลวงชาติตระการโกศล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเล่นกีฬาบาสเกตบอล ทั้งยังเคยเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันบาสเกตบอล เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นกีฬาบาสเกตบอลก็แพร่หลายทั่วประเทศไทย นิยมเล่นกันมากในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามหัวเมือง ในตลาดเขตอำเภอของจังหวัดต่างๆ
ปัจจุบันกีฬาบาสเกตบอลถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแทบทุกระดับการศึกษา คือ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา องค์กรสำคัญที่ส่งเสริมและจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น


ขอบคุณเว็บไซต์ : www.mwit.ac.th/~t2090107/link/Media_HEP40201/History.doc

<< Go Back