<< Go Back
กติกาการแข่งขันสกา ของสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.2540
1. กำหนดให้มีตัวสกาฝ่ายละ 15 ตัว ในจำนวนนี้ผู้แข่งขันจะต้องคว่ำไว้ที่จุ่มมุมขวาสุด (จุ่มที่ 12) 1 ตัว เรียกว่า “ตัวเกิด” หรือ “เจ้าเมือง” ตั้งแต่จุ่มที่ 7 ถึง 12 เรียกว่า “เมือง” ของผู้แข่งขัน ผู้แข่งขันจะต้องวางตัวสกาที่เหลือไว้ในที่ใส่ตัวสกา (หูช้าง)

2. ลูกบาศก์ที่ใช้ในการแข่งขัน คือ ลูกเต๋า มีจำนวนชุดละ 2 ลูก ผู้แข่งขันอาจจะขอเปลี่ยนลูกบาศก์ใหม่ก็ได้ เมื่อได้แข่งขันไปแล้วครึ่งหนึ่งของกำหนดการแข่งขัน ทั้งนี้จะต้องเปลี่ยนลูกบาศก์ทั้งชุด และกรรมการจะเป็นผู้จัดเปลี่ยนให้

3. ให้ใช้กระบอกที่จัดไว้ทอดลูกบาศก์ลงในโก้งโค้ง (โกร่ง) บนกระดานสกา ห้ามใช้มือทอดเด็ดขาด เมื่อทอดลูกบาศก์ลงไปตั้งบนกระดานสกาทั้ง 2 ลูกแล้วถือว่าใช้ได้ ถึงแม้ว่าจะพลาดโก้งโค้ง แต่ถ้าเป็นไปโดยมิได้เจตนาแล้วก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าลูกบาศก์ตะเคียว พิงข้างกระดาน พิงจุ่มสกา พิงกันเอง ขึ้นไปตั้งบนตัวสกา ตั้งบนขอบกระดาน ออกนอกกระดาน หรือเข้าไปอยู่ในที่ใส่ตัวสกา ให้ทอดใหม่

4. ผู้แข่งขันจะทอดลูกบาศก์ได้ก็ต่อเมื่อคู่แข่งขันเดินแต้มสกาเรียบร้อยแล้ว และอย่าหยิบลูกบาศก์ก่อนที่คู่แข่งขันจะได้เดินแต้มสกาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการดูแต้มลูกบาศก์

5. ให้เดินตัวสกาตามหน้าบาศก์ที่ทอดไว้ โดยจะเกิดตัวใดก่อนหรือหลังก็ได้ หรือจะเดินต่อเดียวตลอดก็ได้ แต่ต้องเดินโดยย่างตามหน้าบาศก์แต่ละครั้ง และจะย่างซ้ำจุ่มที่มีตัวสกาของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ถ้าทอดหน้าบาศก์ได้คู่ มีสิทธิ์เดินได้ 4 ครั้ง และได้ทอดต่อไปอีก ถ้าทอดได้คู่อีกก็มีสิทธิ์เดินอีก 4 ครั้งเป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ ไป การเดินก็ต้องย่างตามหน้าบาศก์ จะย่างซ้ำจุ่มที่มีตัวสกาของอืกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

6. ถ้าผู้แข่งขันทอดบาศก์แล้วเดินไม่ได้ ก็ถือว่าไม่ต้องเดินเฉพาะตามหน้าบาศก์ที่เดินไม่ได้ แต่ถ้ามีตัวที่จะเดินได้แล้ว จะต้องเดินให้ครบถ้วนตามหน้าบาศก์เสมอไป

7. เมื่อผู้แข่งขันจับตัวสกาออกจากจุ่มแล้วต้องเดินตัวนั้น และเมื่อวางจุ่มใดแล้วต้องอยู่กับที่ จะย้ายอีกไม่ได้ การจับตัวเดินให้จับครั้งละ 1 ตัว และแต่ละครั้งที่เดินจะต้องย่างตามหน้าบาศก์

8. ในกรณีที่ผู้แข่งขันหรือกรรมการจะเตือนให้เดินให้ครบแต้ม เรียกว่า “จูง” แต่ถ้าหากไม่มีผู้ใดเห็นและจูงจนกระทั่งได้ทอดหน้าบาศก์ครั้งต่อไปแล้วก็ให้ถือว่าผ่านไป จะจูงหรือคัดค้านภายหลังไม่ได้

9. คู่แข่งขันหรือกรรมการจะจูงให้เดินให้ถูกต้องตามหน้าบาศก์ การจูงนั้นให้ถือหลักว่า จะต้องจูงหน้าบาศก์ใหญ่ (หน้าบาศก์แต้มสูง) ก่อนเสมอไป ถ้าผู้แข่งขันเดินตัวแรกต่ำกว่าหน้าบาศก์ที่ทอดได้ทั้ง 2 ลูก จูงไม่ได้ ต้องเตือนให้เดินให้ถูกต้องตามหน้าบาศก์ ถ้าตัวแรกเดินถูกต้องแล้ว แต่เดินตัวหลังผิด จะจูงได้เฉพาะตัวหลัง และถ้าจูงไม่ได้ ก็ให้ถอยกลับและเดินตัวอื่นได้

10. ถ้าผู้เข้าแข่งขันทอดบาศก์และเดินตัวเดียวตลอดและไม่ถูกต้อง ให้คู่แข่งหรือกรรมการ “จูง” ให้เดินตัวนั้นให้ครบแต้ม ถ้าเดินไม่ได้จึงจะให้เดินตัวอื่นได้

11. ผู้แข่งขันต้องลงตัวสกาให้หมดเสียก่อนจึงจะทำการเกิดได้ และจะต้องพลิก “ตัวเกิด” ให้หงายขึ้นเป็นหลักฐานว่าให้เกิดแล้ว

12. ถ้าผู้เข้าแข่งขันเกิดแล้วมิได้พลิก “ตัวเกิด” ให้หงายขึ้นจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทอดบาศก์แล้ว จะมาพลิกหงายไม่ได้ กรณีนี้ผู้แข่งขันจะต้องเกิดใหม่ หากชนะจะไม่ได้คะแนน แต่ถ้าแพ้จะต้องเสียคะแนนตามปกติ


http://www.brandage.com/Modules/DesktopModules


<< Go Back