<< Go Back
    ระบบไหลเวียนเลือด (Blood Circulatory System) ทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร แก็สออกซิเจน ไปสู่เซลล์ต่างๆ และนำแก็สคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียต่างๆ ออกจากเซลล์ รักษาสมดุลของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ต่อสู้และป้องกันสิ่งแปลกปลอม รวมทั้งเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ระบบไหลเวียนเลือดประกอบด้วย เลือด หัวใจ และหลอดเลือด
โครงสร้างและการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด
                1. เลือด (Blood) มีลักษณะเป็นของเหลว มีสีแดง ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ น้ำเลือดหรือพลาสมา (Plasma) และเม็ดเลือด (Corpuscle)
                                1.1 น้ำเลือดหรือพลาสมา ประกอบด้วยน้ำร้อยละ 91 นอกนั้นเป็นสารอื่นๆ ทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหาร เอนไซม์  ฮอร์โมน และแก็สออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย และลำเลียงของเสียจากร่างกายไปทำลายที่ตับและขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ผิวหนัง และปอด
                                1.2 เม็ดเลือด มี 3 ชนิด คือ
                                                1) เม็ดเลือดแดง (Red Blood Corpuscles) มีลักษณะเป็นรูปกลมแบนตรงกลาง ไม่มีนิวเคลียส มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นสารประเภทโปรตีนที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) เป็นสีของเลือด ทำให้เลือดมีสีแดง โดยที่ฮีโมโกลบินผสมกับออกซิเจน ถ้ามีออกซิเจนมากเลือดจะแดงมาก แหล่งสร้างเม็ดเลือด คือ ไขกระดูก และมีอายุประมาณ 110-120 วัน หลังจากนั้นก็จะถูกส่งไปทำลายที่ตับและม้าม
                                                2) เม็ดเลือดขาว (White Blood Corpuscles) มีรูปร่างกลมขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดง ไม่มีสี มีนิวเคลียส  เม็ดเลือดขาวในร่างกายมีอยู่หลายชนิด ทำหน้าที่ต่อต้านและทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แหล่งที่สร้างเม็ดเลือดขาว ได้แก่ ม้าม ไขกระดูก และต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาวมีอายุประมาณ 7-14 วัน ก็จะถูกทำลาย
                                                3) เกล็ดเลือด (Platelet) เป็นส่วนประกอบของเลือดที่ไม่ใช่เซลล์ แต่เป็นชิ้นส่วนของเซลล์มีรูปร่างเป็นรูปไข่และแบนมีขนาดเล็กมาก ไม่มีสีและไม่มีนิวเคลียส ทำหน้าที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อออกสู่ภายนอกร่างกาย ซึ่งจะช่วยห้ามเลือดในกรณีที่เกิดบาดแผล โดยจับตัวเป็นกระจุกร่างแหอุดรูของหลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดหยุดไหล แหล่งที่สร้างเกล็ดเลือด คือ ไขกระดูก เกล็ดเลือดมีอายุเพียง 4 วันเท่านั้น ก็จะถูกทำลาย
                2. หัวใจ (Heart) เป็นอวัยวะที่ประกอบขึ้นด้วยกล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ หัวใจตั้งอยู่ในบริเวณทรวงอกระหว่างปอดทั้งสองข้าง ค่อนไปทางด้านซ้าย มีเยื่อหุ้มภายนอกเรียกว่า เยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) ผนังด้านนอกของหัวใจจะมีหลอดเลือดโคโรนารี (Coronary) ทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ทำหน้าที่นำเลือดมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ภายในหัวใจมีลักษณะเป็นโพรงมี 4 ห้อง โดยแบ่งเป็นห้องบน 2 ห้อง เรียกว่า เอเตรียม (Atrium) ห้องล่าง 2 ห้อง เรียกว่า เวนตริเคิล (Ventricle) หัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้ายมีลิ้นไบคัสพิด (Bicuspid) คั่นอยู่ ส่วนห้องบนขวาและล่างขวามีลิ้นไตรคัสพิด (Tricuspid) คั่นอยู่ ซึ้งลิ้นทั้งสองนี้ทำหน้าที่คอยปิด-เปิด เพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อยกลับ หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดโดยการบีบตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นจังหวะ ทำให้เลือดไหลไปตามหลอดเลือดต่างๆ หลอดเลือดแดงจะขยายตัวตามจังหวะการบีบตัวของหัวใจ เราสามารถจับจังหวะนี้ได้ตรงตำแหน่งหลอดเลือดที่อยู่ใกล้กับผิวหนัง เรียกว่า ชีพจร (Pulse)
                3. หลอดเลือด (Blood Vessels) หลอดเลือดในร่างกาย แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
                                3.1 หลอดเลือดแดง (Arteries) เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เลือดที่อยู่ในหลอดเลือดนี้เป็นเลือดแดงมีปริมาณออกซิเจนมาก ยกเว้นเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (Pulmonary Artery) ที่จะนำเลือดจากหัวใจไปยังปอด จะเป็นเลือดดำมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มาก
                                3.2 หลอดเลือดดำ (Veins) เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าสู่หัวใจ เลือดที่อยู่ในหลอดเลือดนี้เป็นเลือดดำ มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มาก ยกเว้นเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดดำพัลโมนารี (Pulmonary Vein) ที่จะนำเลือดจากปอดกลับสู่หัวใจจะเป็นเลือดแดง
                                3.3 หลอดเลือดฝอย (Capillaries) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กละเอียดเป็นฝอยติดต่ออยู่ระหว่างแขนงเล็กๆ ของหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอยนี้มีผนังบางมาก ประกอบด้วยเซลล์ชั้นเดียว หลอดเลือดฝอยมีอยู่ทั่วเกือบทุกส่วนของร่างกายและมีจำนวนมาก บริเวณผนังของหลอดเลือดฝอย เป็นบริเวณที่มีการแลกเปลี่ยนสารอาหาร แก็ส และของเสียต่างๆ ระหว่างเลือดกับเซลล์ของร่างกาย
<< Go Back