<< Go Back
      พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ใช้เป็นหลักอยู่ และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายครั้งจนกระทั่งล่าสุดจึงมี พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้เหมาะสมกับปัญหา โดยแก้ไขโทษในความผิดเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครอง มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษจำนวนเล็กน้อยให้มีโทษขั้นสูงลดลง เพื่อให้บุคคลซึ่งต้องหาว่าเสพเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพตาม กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ 2545 และเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษโดยให้มีการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น การให้อำนาจสั่งตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลใดมียาเสพติดให้โทษอยู่ในร่างกายหรือไม่ ฯลฯ

       ยาเสพติดให้โทษ หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยการกิน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใด ๆ แล้วจะทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ รวมตลอดถึงพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติด และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย
  1.พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้แบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
      ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงมี 38 รายการ เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน แมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เอ็กซ์ตาซี และแอลเอสดี
      ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป มี 102 รายการ เช่น ใบโคคา โคคาอีน โคเดอีน ยาสกัดเข้มข้นของต้นฝิ่นแห้ง เมทาโดน มอร์ฟีน ฝิ่นยา (ฝิ่นที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งเพื่อใช้ในทางยา) ฝิ่น (ฝิ่นดิบ ฝิ่นสุก มูลฝิ่น)
      ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติดประเภท 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย
      ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือ 2 มี 32 รายการ เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติล คลอไรด์
      ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 มี 4 รายการ คือ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย


http://www.thailaws.com/aboutthailaw/knowledge_62.htm
<< Go Back