<< Go Back

                โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองและมะเร็ง ประมาณปีละเกือบสองแสนล้านบาท ผู้ป่วยโรคเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญโรคเหล่านี้มีผลทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตหรือพิการเพิ่มมากขึ้นด้วย
     โรคเรื้อรังทั้ง 5 โรคนี้รักษาหายยากหรือรักษาไม่หายขาด โดยที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม เช่น ชอบกินอาหารหวาน มัน เค็ม การขาดการออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และมีความเครียดสูง เป็นต้น จึงทำให้เกิดโรคอ้วนขึ้นซึ่งคนที่อ้วนลงพุงจะมีไขมันสะสมในช่องท้องมาก ไขมันนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ไม่ดีเป็นเหตุให้เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง จนเกิดโรคแทรกซ้อนตามมานั่นคือ ไตวาย หัวใจวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต และถึงแก่ชีวิตได้
     รอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 ซม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3 - 5 เท่า นั่นหมายความว่ายิ่งพุงใหญ่เท่าไร ยิ่งตายเร็วเท่านั้น เกณฑ์การวินิจฉัย "โรคอ้วนลงพุง" ของคนไทยคือ ผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวตั้งแต่ 90 ซม.ขึ้นไปหรือผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอวตั้งแต่ 80 ซม.ขึ้นไป ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงอีก 2 ใน 4 อย่าง คือ มีความดันโลหิตตั้งแต่ 130 / 85 มม.ปรอทขึ้นไปหรือกินยาลดความดันโลหิตอยู่ มีระดับน้ำตาลขณะอดอาหารสูงตั้งแต่ 100 มก. / ดล.ขึ้นไป ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงตั้งแต่ 150 มก. / ดล.ขึ้นไป หรือระดับไขมันเอชดีแอลโคเลสเตอรอลในผู้ชายต่ำกว่า 40 มก. / ดล. ในผู้หญิงต่ำกว่า 50 มก. / ดล.
     หากคนที่เป็น"โรคอ้วนลงพุง"ยังปล่อยตัวให้เป็นแบบนี้ โอกาสเกิดโรคก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ท่านที่รู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรใส่ใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิต ดูแลสุขภาพตนเองโดย
  - ดูแลและควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม   ดัชนีมวลกาย(BMI)ควรอยู่ในช่วง18.5 - 22.9 กก. ตารางเมตร    ผู้ชายควรมีรอบเอวน้อยกว่า 90 ซม.    ส่วนผู้หญิงควรน้อยกว่า 80 ซม.
  - หลีกเลี่ยงอาหารหวาน   มัน  เค็ม     เพิ่มการกินผัก    ผลไม้รสไม่หวาน    และธัญพืชให้มากขึ้น
  - ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน    ความดันโลหิตสูง    ควรรักษาตัวย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  - ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ
  - ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่    หรือหลีกเลี่ยงจากสถานที่ที่มีควันบุหรี่ 

 


http://www.lph.go.th/lampang/index.php?option=com_content&view=article&id=286:5-&catid=9:test-news-health

<< Go Back