<< Go Back
ประสาทอัตโนมัติ ระบบประสาทอิสระ ควบคุมร่างกายนอกอำนาจจิตใจ
        เราหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด หรือถ้าจะพูดให้แคบเข้าก็คือ เอาออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายนั่นเอง อวัยวะทุกส่วนของร่างกายต้องการออกซิเจนเพื่อเป็นพลังงานและต้องการติดต่อกันตลอดเวลา
ถ้าร่างกายขาดออกซิเจน แม้ช่วงระยะเวลาไม่นานนักก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ออกซิเจนจะถูกนำไปสู่เซลล์ของร่างกายโดยเลือด เซลล์จะใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีวิต
        การเผาไหม้ภายในเซลล์จะเกิดในอุณหภูมิปกติ และจะได้สารที่มีพลังงานสูง การเผาไหม้ภายในเซลล์จะเกิดผลผลิต 2 ชนิดคือ
           1. คาร์บอนไดออกไซด์
           2. น้ำ
        ร่างกายขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจ ส่วนน้ำจะเอาไปใช้ต่อ ส่วนที่เหลือจะขับออกทางการหายใจ เหงื่อและปัสสาวะ ดังนั้นพอสรุปได้ว่าเราหายใจเข้าเพื่อเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย และหายใจออกเพื่อคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาภายนอก
        ส่วนที่ว่า แล้วทำไมร่างกายเราต้องทำการสูดอากาศเข้าปอด อะไรที่ทำการควบคุม ทำไมหัวใจจึงเต้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่นอกเหนือการสั่งงานด้วยจิตใจเรา เช่นถ้าเราอยากจะหยิบปากกา เราก็คิดสมองก็สั่งงานไปที่มือ มือก็หยิบปากกา แต่หัวใจ ไม่ได้เต้นตามความคิด มันเต้นด้วยระบบการสั่งงานโดยอัตโนมัติ
เรามาเรียนรู้กันสั้นๆ เกี่ยวกับประสาทอัตโนมัติกัน
        ระบบประสาทอัตโนมัติ หรือ ระบบประสาทอิสระ (autonomic nervous system) เป็นการทำงานของระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองและควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ ทำหน้าที่ อิสระ อยู่นอกอำนาจจิตใจแบ่งได้เป็น 2 ระบบคือ
        ระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic) เป็นการเตรียมร่างกายสำหรับสภาพที่กดดัน เคร่งเครียด หรือกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก เป็นการเตรียมตัวเพื่อสู้หรือหนี ได้แก่ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ระบบย่อยอาหารหยุดทำงาน ม่านตาขยาย หายใจเข้าเพื่อนำปริมาณอากาศเข้ามากขึ้น เช่น เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ เราก็จะมีแรงยกของหนักกว่าที่เราเคยทำได้ เป็นต้น
        ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) เป็นระบบประสาทที่ทำงานในสภาวะพักของร่างกาย ในสภาพนี้ ระบบย่อยอาหารทำงาน หัวใจเต้นช้า หายใจเข้าเพื่อนำอากาศเข้าปกติ
        ทำไมเราจึงขนลุกเวลาหนาว ตัวเริ่มสั่น เพราะประสาทอัตโนมัติส่งสัญาณไปที่ประสาทโซมาติกเพื่อทำให้กล้ามเนื้อสั่น เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้ให้ได้มากที่สุด เป็นต้น

http://pedia.kidmak.com/article-963.html

<< Go Back