<< Go Back
การสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน
            ความหมายและความสำคัญของกระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน กระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน หมายถึง ขั้นตอนหรือลำดับการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน ซึ่งปัจจุบันกระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน  ได้ใช้กรอบแนวความคิดของโครงการที่เรียกว่า "ชุมชนปลอดภัย (Safety community)" ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ใช้ต่อสู้กับปัญหาอุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีหลักการดำเนินงานที่ มุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชุมชน เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและลดพฤติกรรมเสี่ยงระดับบุคคล เนื่องจากปัญหาความไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งอาจทำให้บุคคลเกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตหรือสูญเสียทรัพย์สิน เช่น ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั้งจากการถูกปล้น ชิงทรัพย์ การทำร้ายร่างกาย การฆ่า การข่มขืน หรือปัญหาความไม่ปลอดภัยและความเสี่ยงต่อการติดสารเสพติดของเยาวชน หรือปัญหาอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ถ้าบุคคลมีพฤติกรรมประมาท ขาดความระมัดระวัง การสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนจึงมีความสำคัญการลดปัญหาความไม่ปลอดภัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้คนในชุมชนมีชีวิตที่สงบสุข ปราศจากภัยอันตรายที่ส่งผลทำลายสุขภาพและชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างเสริมความปลอดภัย  ที่ประกอบไปด้วยกระบวนการดำเนินงานที่เป็นลำดับขั้นตอน และอาศัยความร่วมมือของชุมชนเป็นพื้นฐาน ย่อมทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา  และการจัดการเรื่องความปลอดภัยในชุมชนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตรงกับความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง เช่น กระบวนการทางประชาสังคมที่ใช้สร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน ที่นักเรียนได้ศึกษาในระดับชั้นเรียนที่ผ่านมานั้น  ก็ถือว่าเป็นกระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนวิธีหนึ่ง  เพราะวิธีการที่ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญในเรื่องของความร่วมมือกันของคนในชุมชน  ในการสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย  จนเกิดการช่วยกันดูแลและป้องกันอันตรายต่างๆ ในชุมชนได้เป็นอย่างดี
            ดังนั้น ทุกชุมชนควรสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนของตนเองให้เกิดขึ้น  เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้มีสุขภาพดี ไม่ให้ได้รับอันตรายจากปัญหาความไม่ปลอดภัยต่างๆ โดยใช้กระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ และยึดหลักการร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชนเป็นพื้นฐาน

ที่มา : http://8959689666.blogspot.com/

กระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน
            กระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน เป็นความจำเป็นพื้นฐานด้านความปลอดภัยที่ควรดำเนินการในชุมชน  เพราะความปลอดภัยเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนพึงมีพึงได้  โดยประชาชนมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและจัดการกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน  เพื่อให้เกิดความปลอดภัย มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าสิ่งใดคืออันตราย  อะไรคือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บและความไม่ปลอดภัย เป็นต้น  ซึ่งกระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในแต่ละชุมชนอาจมีขั้นตอน ลำดับและรูปแบบของการดำเนินงาน  หรือการจัดกิจกรรมสร้างเสริมความปลอดภัยที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกการดำเนินงานตามกระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนนั้น  จะต้องมีหลักการที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ มุ่งเน้นผลประโยชน์ทางสุขภาพของบุคคลในชุมชนเป็นสำคัญ

หลักการดำเนินการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน ชุมชนปลอดภัย ต้องมีหลักการดำเนินงานสร้างเสริมความปลอดภัย ดังนี้
            1. ชุมชนต้องดำเนินการป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากความสนใจหรือปัญหาของชุมชน เช่น การป้องกันภัยจากสารเสพติด การป้องกันภัยจากอัคคีภัย การป้องกันภัยจากโจรผู้ร้ายโดยอาจมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบันต่างๆ ในระดับชุมชน เพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง
            2. ชุมชนต้องมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานหรือ องค์กรภายนอกชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัย  และปัญหาการเกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภัยอันตรายต่างๆ
            3. ชุมชนต้องมีระบบการเฝ้าระวังภัยอันตรายของชุมชน ที่จะนำไปสู่การประเมินขนาดของปัญหาสาเหตุของปัญหา และปัจจัยเสี่ยงของความไม่ปลอดภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น
            4. ชุมชนต้องมีระบบการสำรวจความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมเสี่ยงในชุมชน และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการเกิดอันตราย เพื่อที่จะดำเนินการวางแผนแก้ไขต่อไป
            5. ชุมชนต้องมีการต่อต้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นในชุมชนได้แก่ ต่อต้านผลิตภัณฑ์เสี่ยง และสิ่งแวดล้อมอันตราย เช่นของเล่นที่เป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก เครื่องสำอางที่หลอกลวงประชาชน การสร้างถนนในชุมชนโดยไม่มีทางเท้า หรือทางสำหรับคนเดินข้ามถนน การใช้สารเคมีหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อคนในชุมชน เป็นต้น  รวมทั้งการต่อต้านพฤติกรรมการก่อให้เกิดอันตรายของบุคคล เช่น พฤติกรรมเมาแล้วขับ พฤติกรรมการเสพสารเสพติด พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาทางเพศ เป็นต้น
            6. ชุมชนต้องมีระบบการฝึกอบรมการสอน หรือเผยแพร่ความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างคนในชุมชน ในเรื่องของการสร้างเสริมความปลอดภัย และการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดภัยอันตรายต่างๆ 
            7. ชุมชนต้องมีระบบการเตรียมความพร้อมในการรับกับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน เช่น การเกิดอัคคีภัย  การเกิดภัยธรรมชาติ โดยต้องมีการจัดระบบการอพยพผู้คนและแจ้งข่าวสาร มีการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่มีประสิทธิภาพ
            8. ชุมชนต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานที่จัดขึ้นภายในชุมชนของตนเอง โดยกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม
            9. ชุมชนต้องมีการรวบรวมความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยในชุมชนของตนเอง เผยแพร่สู่สังคมอื่นๆ เพื่อขยายผลในการสร้างเสริมความปลอดภัยในระดับประเทศชาติต่อไป

<< Go Back