<< Go Back

ปัญหาอาชญากรรม

ที่มาของภาพ : http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=421366
ปัญหาอาชญากรรม
1.1 ความเป็นมาของอาชญากรรม
            อาชญากรรม เป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำผิดที่มีอันตรายมีความรุนแรง และเป็นการกระทำที่ควรจะจัดการให้สาสม ซึ่งผู้กระทำผิดควรต้องได้รับผลตอบแทนจากสังคมโดยรวม ทุกคนจะเดือดร้อนต่างต้องการให้ขจัดคนร้ายด้วยวิธีการใดก็ตามออกไปจากสังคม ดังนั้นการกระทำความผิดจึงเป็นการแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม คือ คนดี และคนชั่ว การที่คนรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชุมชน สังคม เมื่อวันเวลาผ่านไปสังคมย่อมมีการขยาย จำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เกิดการขัดแย้ง เบียดเบียน รังแก เอาเปรียบ วิวาท และทำร้ายกันทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีรูปแบบต่างๆ หลากหลาย ความสลับซับซ้อนในวิธีการและกลุ่มคนกระทำผิดมีจำนวนเพิ่มขึ้น ความรุนแรงก็มีมากขึ้นด้วย ลองพิจารณากันดูว่าเมื่อเรากล่าวถึง "อาชญากรรม" เราหมายถึงอะไร
1.2 ความหมายของอาชญากรรม
          อาชญากรรม คือ การกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยการกระทำผิดทางอาญานั้น ได้กระทำขึ้นโดย "อาชญากร" เช่น คดีฆ่าผู้อื่น ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ เป็นต้น
1.3 อาชญากรรมกับสังคม
            1. อาชญากรรมเป็นสิ่งที่มีคู่กันกับสังคมทุกสังคม เป็นปัญหาสังคมที่สำคัญคุกคามความสงบสุขของประชาชนและเป็นภัยต่อสังคม ทำลายชีวิตและทรัพย์สิน แสดงถึงความไม่สมบูรณ์และความบกพร่องของระเบียบสังคม
            2. การศึกษาอาชญากรรมในแวดวงสังคมวิทยาจะเป็นการศึกษาถึง พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของบุคคลต่อสังคม  วิเคราะห์หาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง
            3. ในอดีตปัญหาอาชญากรรมยังไม่เกิดมีมากนัก เนื่องจากว่าสังคมแบบเดิมเป็นสังคมที่มีจารีตประเพณี กำหนดไว้แน่นอน  ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามแบบแผนการดำเนินชีวิต  วัฒนธรรมและสังคมของตนอย่างเคร่งครัด  ผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นที่รังเกียจของสังคม
            4. พฤติกรรมของคนเราจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม แต่จะมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน  เกี่ยวกับการกระทำบางอย่างที่เห็นว่าดีและสมควรให้ปฏิบัติ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เสียหาย ในสังคมที่เจริญก้าวหน้ามติต่างๆ  เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่ต้องการให้สมาชิกของสังคมปฏิบัติ  จะออกมาในรูปบทบัญญัติทางกฎหมาย  ผู้ใดฝ่าฝืนทำให้สังคมปราศจากความปกติสุขกระทบกระเทือนสวัสดิภาพและสิทธิของผู้อื่น ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ
1.4 สาเหตุของปัญหาอาชญากรรม
           1. โดยพื้นฐานแล้วสาเหตุแห่งการประกอบอาชญากรรมของคนในประเทศต่างๆ จะคล้ายคลึงกัน เกิดจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  และการเพิ่มขึ้นของประชากรเมื่อคนเราหมดที่พึ่ง  ก็หันมาประกอบอาชญากรรม หรือคิดว่า การค้าขายของผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด ของหนีภาษี ฯลฯ สามารถสร้างความร่ำรวยได้ในระยะเวลาสั้นจึงประกอบอาชญากรรม
           2. สภาพครอบครัว มักจะมาจากครับครัวที่บ้านแตกสาแหรกขาด พ่อแม่แยกกันไปคนละทางไม่มีเวลาอบรมดูแลลูก  หรือบิดามารดาอยู่ด้วยกันแต่ทะเลาะกันทุกวัน ทำให้เบื่อบ้านและออกไปคบหาสมาคมกับเพื่อน  เมื่อเกิดความขาดแคลนก็มักจะประกอบอาชญากรรม
           3. ฐานะทางเศรษฐกิจ ผู้ที่ประกอบอาชญากรรมมักจะมาจากคนที่มีฐานะยากจน  มีสภาพจิตใจไม่ปกติ   เนื่องจากต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
           4. การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เนื่องจากเมืองไทยได้รับอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก  ซึ่งมีบางสิ่งบางอย่างขัดกับวัฒนธรรมสังคมไทย  เป็นต้น  การนิยมวัตถุความสัมพันธ์ทางเพศ การแต่งกาย เมื่อมีความต้องการมากๆ ก็ทำให้ประกอบการกระทำผิดได้
           5. การว่างงาน ในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจรัดตัว ทุกชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อตนเองและครอบครัวเมื่อคนเราว่างงาน สภาพจิตใจและอารมณ์  ย่อมสับสนฟุ้งซ่านมักใช้เวลาว่างไปทางด้านอบายมุขต่างๆ เป็นต้นว่า สุรา นารี เล่นม้า การพนัน เที่ยวเตร่ เป็นต้น
           6. ความเสื่อโทรมทางศีลธรรมในปัจจุบันความคำนึงถึงศีลธรรมและความอะลุ่มอล่วยกันในสังคม จะไม่ค่อยพบนัก ทั้งนี้เนื่องจากต่างคนต่างอยากที่จะหาความสุขให้กับชีวิต  ทุกคนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิต ความเจริญก้าวหน้าของวัฒนธรรมทางวัตถุที่ไปเร็วกว่าวัฒนธรรมทางจิตใจไม่ค่อยใกล้ชิดกับศาสนา  ขาดการศึกษาและอบรมจิตใจที่ดีทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ง่าย


ที่มา : http://www.l3nr.org/posts/335795
<< Go Back