<< Go Back

             ยาเสพติด หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุชนิดใด ๆ ที่เสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่นต้องการเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยา เมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไป จะทรุดโทรมลง ซึ่งยาเสพติดนี้ อาจรวมถึงพืชหรือส่วนของพืชที่เป็น หรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย
       ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน อาซีทอร์ฟีน อีทอร์ฟีน แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน ฯลฯ
       ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคอีน (โคเคน) โคเดอีน ฯลฯ
       ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษชนิดเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ปรุงผสมอยู่ เช่น ยาแก้ไอที่มีฝิ่น หรือโคเดอีน เป็นส่วนผสมยาแก้ท้องเสีย  ที่มีไดฟีน็อคซิเลท เป็นส่วนผสม ฯลฯ
       ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือ ประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติลคลอไรด์
       ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม
ลักษณะของผู้ติดยาเสพติด
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
         - สุขภาพ ทรุดโทรมผอมซูบซีด
         - ริมฝีปากเขียวคล้ำ แห้งแตก
         - ผิวหนังหยาบกร้าน เป็นแผลพุพอง
         - น้ำมูกน้ำตาไหล เหงื่อออกมาก
         - มักใส่แว่นกรองแสงสีเข้ม เพื่อต่อสู้กับแสงสว่างเพราะม่านตาขยาย
         - มีร่องรอยการเสพยาโดยการฉีด นิ้วมือมีรอยคราบเหลืองสกปรก
         - มีรอยแผลเป็นที่ท้องแขนเป็นรอยกรีด ด้วยของมีคม (ทำร้ายตนเอง)
การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ความประพฤติ และบุคลิกภาพ
         - ขาดการเรียน หนีโรงเรียน การเรียนด้อยลงสติปัญญาเสื่อม การงานบกพร่อง
         - ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม ชอบแยกตัวเอง หลบซ่อนตัว ทำตัวลึกลับ
         - เป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิด เอาแต่ใจตนเอง ขาดเหตุผล พูดจาก้าวร้าว ดื้อรั้นไม่เชื่อฟัง สามารถทำร้ายบิดามารดาได้
         - ไม่สนใจความเป็นอยู่ของตนเอง แต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย สกปรก
         - สีหน้าแสดงความผิดหวังกังวล ซึมเศร้า
         - พกอุปกรณ์เกี่ยวกับยาเสพติด เช่น เข็มฉีดยา กระดาษตะกั่ว ไม้ขีดไฟ
เมื่อขาดยาเสพติดจะมีอาการอยากยาเสพติดเกิดขึ้น เช่น
         -
มีอาการน้ำมูก น้ำตาไหล หาวนอน จามคล้ายเป็นหวัด
         - กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หายใจถี่ลึก จ้องหาแต่ยาเสพติด จะขวนขวายหามาเสพไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ
         - คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน อาจมีเลือดปนออกมาด้วย เรียกว่า ลงแดง
         - ขนลุก เหงื่อออก เป็นตะคริว กล้ามเนื้อกระตุก ขบฟัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเสียวในกระดูกดิ้นทุรนทุราย
         - มีไข้และความดันโลหิต ชักกระตุก นอนไม่หลับ คลุ้มคลั่ง เสียสติ
สาเหตุของการติดยาเสพติด
         -
ความอยากรู้อยากลอง ด้วยความคึกคะนอง
         - เพื่อนชวน หรือเพื่อนต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
         - มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพติดบางชนิดอาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์หรือช่วยให้ทำงานได้มาก ๆ
         - ขาดความระมัดระวังในการใช้ยา เพราะคุณสมบัติ ของยาบางชนิด อาจทำให้ผู้ใช้เกิดการเสพติดได้โดยไม่รู้ตัว
         - ใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
         - สภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่อาศัยมีการค้ายาเสพติด หรือมีผู้ติดยาเสพติด
         - ถูกหลอกอาจเพื่อประโยชน์ในการค้ายาเสพติด
         - เพื่อหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาแล้วไม่สามารถแก้ให้กับตนเองได้
เราจะป้องกันยาเสพติดได้ดังนี้
1. ป้องกันตนเอง
           ไม่ทดลองเสพยาเสพติดทุกชนิด ถ้ามีปัญหาหรือไม่สบายใจ อย่าเก็บไว้คนเดียว ไม่หาทางออกในทางที่เป็นโทษ ควรปรึกษา พ่อ แม่ ครู ผู้ใหญ่ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ ระมัดระวังการใช้ยาและศึกษาให้เข้าใจ ถึงโทษ ของยาเสพติด
2. ป้องกันครอบครัว
           ควรสอดส่องดูแลเด็กและบุคคลในครอบครัวอย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด ดูแลเรื่องการคบเพื่อน คอยส่งเสริมให้เขารู้จักการใช้เวลาในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำงานบ้าน เล่นกีฬา ฯลฯ เพื่อป้องกันมิให้เด็กหันเหไปสนใจในยาเสพติด สิ่งสำคัญก็คือ ทุกคนในครอบครัวควรสร้างความรักความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
3. ป้องกันชุมชน
           หากพบผู้ติดยาเสพติดควรช่วยเหลือแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยเร็ว "การสมัครขอเข้ารับ การบำบัดรักษายาเสพติดก่อนที่ความผิดจะปรากฎต่อเจ้าหน้าที่กฎหมายยกเว้นโทษให้" และเมื่อรู้ว่าใครผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อดำเนินการกวาดล้างและปราบปรามมิให้ยาเสพติดกระจายไปสู่ชุมชน


ที่มา : http://www.l3nr.org/posts/335795
<< Go Back