<< Go Back

ประวัติความเป็นมา
             มอร์ฟีน เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น ชาวเยอรมันชื่อ SERTURNER เป็นผู้สกัดจากฝิ่นเมื่อปี ค.ศ.1803 (พ.ศ.2346) ได้เป็นครั้งแรก  แต่ในปัจจุบันนี้มอร์ฟีนสามารถทำขึ้นได้โดยการสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางเคมีแล้ว มอร์ฟีนเป็นยาเสพติดให้โทษที่เสพติดได้ง่ายมาก และการงดเสพจะทำได้ยากต้องใช้เวลานานเท่าฝิ่นหรือนานกว่าฝิ่น ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของบุคคล ปริมาณในการเสพและระยะเวลาในการเสพ มอร์ฟีนได้ถูกนำมาใช้เป็นยาระงับปวด ซึ่งวงการแพทย์ทั่วไปนำไปใช้ภายหลังการผ่าตัด กระดูกหัก  ถูกไฟไหม้ และใช้ระงับปวดในระยะท้ายๆของโรคมะเร็ง แต่แพทย์เท่านั้นที่สามารถใช้ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนบุคคลที่นำมาใช้เอง  โดยแพทย์มิได้สั่งถือว่าผิดกฎหมาย และผู้ใช้มอร์ฟีนโดยพละการเพื่อระงับปวดได้กลายเป็นผู้ติดมอร์ฟีนไป ทำให้ต้องใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับปวดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

มอร์ฟีน (Morphine)
            มอร์ฟีน เป็นแอลคะลอยด์ (Alkaloid) ของฝิ่นที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ฝิ่นมีฤทธิ์เดชแห่งความมึนเมา ชาวเยอรมันชื่อ SERTURNER เป็นผู้สกัดจากฝิ่นเมื่อปี ค.ศ. 1803 (พ.ศ. 2346) ได้เป็นครั้งแรก ฝิ่นชั้นดี จะมีมอร์ฟีนประมาณ 10% - 16% ฝิ่นหนัก 1 ปอนด์นำมาสกัดจะได้มอร์ฟีนประมาณ 0.22 ออนซ์ หรือ 6.6 กรัม มอร์ฟีนมีลักษณะ 2 รูป คือ รูปอิสระ (Free) และรูปเกลือ (Salt) สำหรับที่มีลักษณะเป็นรูปของเกลือ ได้แก่ ซัลเฟท (Sulfate) ไฮโดรคลอไรท์ (Hydrochloride) อาซิเตท (Acetate) และทาร์เตรท (Tartrate) มอร์ฟีนรูปเกลือที่นิยมทำมาก คือ Sulfate ในปัจจุบันมอร์ฟีนสามารถทำขึ้นได้โดยการสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางเคมีแล้ว มอร์ฟีน เป็นผงสีขาวหรือเทาเกือบขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม มีฤทธิ์สูงกว่าฝิ่น เสพติดได้ง่าย มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผงและเป็นก้อน หรือละลายบรรจุหลอดสำหรับฉีด นำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีฉีดเป็นส่วนมาก มอร์ฟีนใช้เป็นยาหลักหรือมาตรฐานของยาแก้ปวด ยาจำพวกนี้กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้รู้สึกง่วงหลับไป และลดการทำงานของร่างกายอาการข้างเคียงอื่นๆ ก็คือ อาจทำให้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องผูก เกิดอาการคันบริเวณใบหน้า ตาแดงเพราะโลหิตฉีดม่านตาดำหดตีบ และหายใจลำบาก

การออกฤทธิ์ :
            ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้รู้สึกง่วงหลับไป และลดการทำงานของร่างกาย อาการข้างเคียงอื่นๆ ก็คือ อาจทำให้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องผูก เกิดอาการคันหน้า ตาแดงเพราะโลหิตฉีด ม่านตาดำหดตีบ และหายใจลำบาก โดยมอร์ฟีนจะไปกดศูนย์ประสาท ดังนี้
            1. ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ซีรเบริล คอร์เทค (Cerebral Cortex) ทำให้กดศูนย์ประสาทสมองส่วนที่รับความรู้สึกมึนชา ความตั้งใจเสื่อมทรามลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ทำให้เกิดอาการทางจิตใจเปลี่ยนแปลงไป
            2. ออกฤทธิ์ต่อประสาทสมองส่วนเมดัลลารี่ (Medullary Centers) ทำให้กดศูนย์ประสาทสมองส่วนการหายใจ ทำให้หายใจช้า  ทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง
            3. ออกฤทธิ์ต่อประสาทไขสันหลัง (Spinal Cord) ทำให้เกิดปฏิกิริยามีอาการกระตุกต่างๆ เกิดขึ้น

ผลต่อร่างกาย :
            1. ระบบทางเดินอาหาร โดยทำให้กล้ามเนื้อเกี่ยวกับทางเดินอาหารทำงานสูงขึ้น  เพื่อที่จะบังคับให้อุจจาระผ่านออก  และถ้าแรงขับของกล้ามเนื้อทางเดินอาหารยิ่งสูงมาก  อาจจะทำให้มีการเคลื่อนไหว  ในทางตรงข้ามทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้นได้
            2. ระบบปัสสาวะ โดยทำให้กล้ามเนื้อหูรูดเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะหดตัว  ทั้งๆ ที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานสูงขึ้นก็ตาม  ทำให้ผู้ติดยาเสพติดถ่ายปัสสาวะยากหรือไม่แรงเท่ากับปกติ
            3. ระบบการไหลเวียนของโลหิต โดยทำให้เส้นเลือดในช่องท้องหดตัว ทำให้การไหลเวียนของโลหิตในร่างกายไม่เป็นไปตามปกติ  จะเห็นได้ว่าผู้ติดยา เสพติดประเภทนี้ตัวเหลือง  อันเนื่องมาจากโลหิตไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกายไม่ปกติ ส่วนเส้นโลหิตฝอยส่วนปลายทั่วไปขยายตัว

นอกจากมอร์ฟีนจะมีโทษแล้ว ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยสำหรับลดความเจ็บปวดด้วยวิธีการต่างๆ  ดังนี้
            1. ช่วยยกระดับความอดกลั้นต่อความรู้สึกเจ็บปวดให้สูงขึ้น จึงทำให้ช่วยรับความรู้สึกด้านความเจ็บปวดน้อยลงหรือหายไปได้ เพราะฤทธิ์มอร์ฟีนไปกดประสาทส่วนรับความรู้สึก
            2. ช่วยยกระดับอารมณ์ของผู้ป่วยให้สูงขึ้น เนื่องจากมอร์ฟีนทำให้เกิดความรู้สึกมึนชาลดความเจ็บปวดลงได้เป็นเหตุ  ทำให้เกิดความสบายอารมณ์ขึ้นบ้าง
            3. ช่วยขจัดความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้หมดไป  เนื่องจากฤทธิ์ของมอร์ฟีนเข้าไปกดประสาทส่วนต่างๆ ของร่างกาย  ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานน้อยลง  เท่ากับเป็นการพักผ่อนของร่างกาย  ช่วยให้เกิดความผาสุกทางด้านจิตใจ จึงขจัดความวิตกกังวลและหวาดกลัวลงได้

<< Go Back