<< Go Back

          โรคชันนะตุคืออะไร

                       เชื้อราบนหนังศีรษะหรือที่เรียกกันว่า     โรคชันนะตุ สาเหตุของการเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะหรือชันนะตุ พบว่ามีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากเชื้อราที่อยู่บนเส้นผม หรือรูขุมขนบริเวณหนังศีรษะร่วมกับน้ำมันที่ผิวหนังผลิตออกมา เมื่อมีอาการคันและเกาจนเป็นแผล เชื้อราเหล่านี้ก็จะทำให้แผลเกิดการอักเสบและติดเชื้อ หากไม่สามารถตรวจหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุแล้ว ก็จะไม่สามารถรักษาอาการของโรคชันนะตุให้หายขาดได้ นอกจากนี้แล้วยังพบว่า ความเครียด ความอ้วน การสระผมบ่อยๆ และการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้เกิดเชื้อราบนหนังศีรษะด้วย เชื้อราบนหนังศีรษะหรือชันนะตุสามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยเฉพาะผิวหนังที่สร้างน้ำมันมาก เช่น หนังศีรษะ เปลือกตา ขนตา ดั้งจมูก ริมฝีปาก หลังใบหู ใบหู ในเด็กแรกเกิดก็เกิดขึ้นได้ แต่โดยทั่วไปมักเป็นชั่วคราว และไม่เป็นอันตราย ไม่ติดต่อ ไม่ได้เกิดจากการที่ไม่รักษาความสะอาด จะมีลักษณะ เป็นเกล็ดหนา สีเหลืองน้ำตาลที่หนังศีรษะ แต่ถ้าคัน และเกาจนเกิดแผลก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เมื่อมีการติดเชื้อแล้วลักษณะอาการของชันนะตุจะมีลักษณะดังนี้ คือ จะมีอาการคันเป็นอย่างมาก มีรังแคเกิดขึ้นเมื่อเกามากๆ ผมร่วง มีลักษณะของแผ่นหรือเกล็ดเกิดขึ้นบนหนังศีรษะ ผลกระทบข้างเคียงหากเป็นเชื้อราบนหนังศีรษะคือ ความเครียด ไม่มั่นใจในตัวเอง มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราแทรกซ้อน

                       ควรทำความสะอาดแผล ตัดผมให้สั้น ควรสระผมทุกวัน แล้วทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที แล้วล้างออก โดยทั่วไปแล้วแชมพูขจัดรังแคมักมีส่วนประกอบเช่น กรดซาลิไซลิก, น้ำมันทาร์ , สังกะสี, คีโตโคนาโซล, ซีลีเนียม หรือให้แพทย์สั่งแชมพูก็ได้นะครับ ในกรณีที่มีอาการรุนแรง กินยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม กับเชื้อที่เป็นสาเหตุ โดยแพทย์จะทำการย้อมพิเศษหรือเพาะเชื้อจากหนองเพื่อหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ หลังจากอาการอักเสบดีขึ้น หนองลดลง ควรค้นหาสาเหตุของโรค โดยนำเส้นผมมาตรวจว่ามีเชื้อราหรือ ไม่ ถ้าพบต้องให้ยาฆ่าเชื้อรา กินต่อไปเป็นเวลา ๔-๖ สัปดาห์ ถ้าไม่พบควรหาสาเหตุอื่นเพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป กล่าวโดยสรุป เชื้อราบนหนังศีรษะหรือชันนะตุนี้เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง โดยทั่วไปแล้วอาการมักจะดีขึ้นในฤดูร้อน เกิดได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจะได้ผลดีหรือหายขาดได้ต้องอาศัยการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และได้รับยาที่เหมาะสม

 

            ที่มา : http://healthzx.blogspot.com/2013/07/blog-post_14.html

<< Go Back