<< Go Back

บรรทัดฐาน
            ในทางสังคมวิทยาหมายถึง พฤติกรรมและบทบาทภายในสังคมหรือกลุ่ม คำนี้มีการจำกัดความว่าเป็น "กฎซึ่งกลุ่มใช้ สำหรับแยกแยะค่านิยม ทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม กฎดังกล่าวอาจบอกอย่างชัดเจนหรือเป็นนัยก็ได้ ผู้ ที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมอาจได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การกีดกันออกไปจากกลุ่ม" นอกจากนี้ยังมี การอธิบายว่าเป็น "กฎธรรมเนียมของพฤติกรรมที่ประสานปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น"
            บรรทัดฐานทางสังคมบ่งชี้ถึงแนวทางสังคมยอมรับในการกระทำ การแต่งกาย การพูดจาหรือรูปลักษณ์ภายนอก บรรทัดฐานนี้มีความแตกต่างกันมากและมีวิวัฒนาการไม่เฉพาะแต่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความแตกต่าง ของวัย ชนชั้นทางสังคมและกลุ่มทางสังคมด้วยบรรทัดฐานของกลุ่มหนึ่งอาจไม่ได้รับการยอมรับในอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ การปฏิบัติ ตามบรรทัดฐานของสังคมนำมาซึ่งการได้รับความยอมรับและความเป็นที่นิยมภายในกลุ่มการเพิกเฉยต่อบรรทัดฐานของสังคม อาจทำให้ผู้หนึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มไม่ได้รับความยอมรับ หรืออาจถึงขั้นขับออกจากกลุ่มเลยก็เป็นได้ บรรทัดฐานทาง สังคมมักเป็นตัวภาษาหรือการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูดระหว่างบุคคลในสังคมทั่วไป

ความสำคัญของบรรทัดฐาน
            บรรทัดฐานมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมสัมพันธ์ภาพของบุคคลในสังคมช่วยทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลให้ เป็นไปตามที่สังคมปรารถนาทำให้เกิดแบบแผนอันดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกำกับมนุษย์ในสังคมหนึ่งสามารถประพฤติได้ อย่างรวดเร็วและถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองนึกคิดว่าในสถานการณ์เช่นนั้น ตนควรจะทำอะไรหรือทำอย่างไร

ที่มาของบรรทัดฐาน
            บรรทัดฐานเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติตามคตินิยมของสังคมนั้น ๆ จนกลายเป็น ระเบียบแบบแผนหรือประเพณีนิยม คตินิยม มักมีรากฐานสำคัญมาจากลัทธิความเชื่อถือในทางศาสนา ตัวอย่างเช่น สังคมหนึ่ง อาจมีประเพณีฆ่าแพะบูชาพระเจ้า ทำให้เกิดบรรทัดฐานดังกล่าวขึ้น นอกจากนั้น ค่านิยมก็เป็นรากฐานสำคัญอันเป็นที่มาของ บรรทัดฐาน เช่น สังคมไทยมีค่านิยมทางยกย่องเคารพนับถือผู้ใหญ่ก็ทำให้เกิดการนับถือผู้ใหญ่ และการที่มนุษย์ปฏิบัติตาม บรรทัดฐานก็เพราะมนุษย์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมนั้น

ประเภทของบรรทัดฐาน
            1) วิถีประชา (Folkways)
            เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ค่อยมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากนักมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ได้ปฏิบัติกันทุกวี่ทุกวันจนกลายเป็นความเคยชินและเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี หากบุคคลใดละเมิด ฝ่าฝืนก็ไม่ได้รับโทษรุนแรงแต่ประการใด เพียงแต่ได้รับคำติฉินนินทาว่าประพฤติปฏิบัติในทางไม่ชอบไม่ควรเท่านั้น เช่น มรรยาทในการ รับประทานอาหารบนโต๊ะ การแต่งกายไปในโอกาสต่าง ๆ โดยเหมาะสม หรือพูดภาษาที่สุภาพซึ่งบุคคลในสังคม นั้นนิยมใช้กัน 
            2) วินัยจรรยาหรือกฎศีลธรรม (Mores)
            เป็นแบบแผนความประพฤติ ที่ถือว่ามีความสำคัญกว่าวิถีประชา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพหรือความดี ความชั่ว ซึ่งผู้ไม่ปฏิบัติตามจะได้รับปฏิกิริยาโต้ตอบจากสมาชิกของสังคมอย่างรุนแรงกว่าวิธีประชา ขอยกตัวอย่างเช่น คนไทยมีกฎ ศีลธรรมไม่บริโภคเนื้อสุนัขและเนื้อแมว เพราะถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน หากทราบว่า บุคคลใดบริโภค ผู้นั้นจะได้รับปฏิกิริยา โต้ตอบในทางลง กล่าวคือ จะไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย โดยเกรงว่าผู้นั้นมีจิตใจขาดศีลธรรมและเหี้ยมโหด จึงได้บริโภค เนื้อสุนัขและเนื้อแมว 
            3) กฎหมาย (Laws)
            เนื่องจากสังคมมนุษย์มีแนวโน้มไปในเชิงซ้อน จึงเกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ จึงเป็น หน้าที่ของสังคมที่จะต้องตราบทบัญญัติและกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อควบคุมสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย ตลอดจน จัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมตรวจตราจับกุมผู้ละเมิดฝ่าฝืนมาลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ฉะนั้นกฎหมายจึงเป็นเรื่องของ บ้านเมืองหรือรัฐบาล มิใช่เป็นเรื่องระหว่างปัจเจกชนต่อปัจเจกชน อนึ่งกฎหมายที่ออกใช้บังคับแล้ว อาจถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกและมีการออกใช้บังคับใหม่อยู่เสมอ ตามความเหมาะสมและจำเป็น 

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/บรรทัดฐาน
ที่มา : http://www.baanjomyut.com/library/social_sciences/13.html

<< Go Back