โพรโทซัว (protozoal)
โพรโทซัว (protozoal) เป็นยูคาริโอติกโพรทิสต์ ที่พบเป็นเซลล์เดียวเป็นส่วนใหญ่ มีความแตกต่างจากยูคาริโอติกโพรทิสต์อื่นโดยสามารถเคลื่อนที่ได้ในบางระยะของวงจรชีวิตและไม่มีผนังเซลล์ โพรโทซัวมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 5-250 ไมโครเมตร เซลล์ของโพโทซัวอาจมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่า โคโลนี (colony) โดยสีสายไซโทรพลาซึมเชื่อมกัน การศึกษาเกี่ยวกับโพรโทซัวจัดเป็นวิชาวิทยาสัตว์เซลล์เดียว (Protozoology)
โพรโทซัวพบในแหล่งที่อยู่ที่ชื้นแฉะ มักพบในทะเล ดิน น้ำจืด สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมได้โดยการแปรสภาพเป็นซีสต์ (cyst) ซึ่งแบ่งโพรโทซัวเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกดำรงชีวิตแบบอิสระ (free living) และพวกที่อาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่น (symbiont)
1. โพรโทซัวที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระ พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำ เช่น น้ำเค็ม น้ำจืด ดิน ทรายหรือบริเวณที่มีซากอินทรีย์เน่าเปื่อยผุพัง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระจายและจำนวนของโพรโทซัวในแหล่งที่อยู่ คือ อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง สารอาหารที่เพียงพอ และสภาวะแวดล้อมซึ่งรวมถึงสภาวะทางกายภาพและชีวภาพ
2. โพรโทซัวที่อาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างโพรโทซัวกับสิ่งมีชีวิตอื่น แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่
2.1 คอมเมนซัลลิซึม (Commensalism) เป็นการอยู่ร่วมกันโดยโฮสต์ไม่เสียประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์ ยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 ชนิด คือ
- เอคโทคอมเมนซัลลิซึม (ectocommensalism) โดยโพรโทซัวจะอาศัยอยู่กับร่างกายของโฮสต์ ตัวอย่างเช่น Entamoeba gingivalis อาศัยอยู่ที่โคนฟันคอยกินเศษอาหาร
- เอนโดคอมเมนซัลลิซึม (endocommensalism) โพรโทซัวจะอาศัยอยู่ภายในร่างกายของโฮสต์ เช่น ในลำไส้ ตัวอย่างเช่น Entamoeba coli เป็นโพรโทซัวที่คอยกินแบคทีเรียในลำไส้
2.2 ภาวะพึ่งพากัน (Mutualism) เป็นการอยู่ร่วมกันโดยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เช่น โพรโทซัวจำพวกแฟลกเจลเลต ชื่อ Trichonympha ที่อยู่ในลำไส้ปลวก ช่วยย่อยไม้ให้เป็นอาหารของปลวก โปรโทซัวและปลวกจะแยกออกจากกันไม่ได้
2.3 ภาวะปรสิต (parasitism) เป็นการที่ปรสิตเข้าไปอาศัยอยู่กับโฮสต์อื่น โดยอาจเข้าไปในเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของโฮสต์ และอาจทำให้เกิดพยาธิสภาพขึ้น โพรโทซัวพวกสปอโรซัวเป็นปรสิตที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรค
ลักษณะสำคัญ
1. เป็นเซลล์เดียวบางชนิดเป็นเซลล์อยู่เดี่ยว ๆ บางชนิดรวมกันเป็นกลุ่ม (colony) มีขนาดเล็กต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
2. ไม่มีอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใด ๆ มีออร์กาแนลทำหน้าที่ต่าง ๆ ในเซลล์
3. มีเซลล์เมมเบรนเป็นกรอบของเซลล์บางชนิดมีโครงแข็งหุ้มเป็นสารพวกเซลลูโลส หรือเจลาติน
4. ขับถ่ายของเสียที่เป็นของเหลว โดยคอนแทรกไทล์ แวคิวโอล นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ ควบคุมสมดุลน้ำภายในเซลล์ด้วย จึงเรียกคอนแทรไทล์ของโปรโตซัวว่าเป็น ออสโมเรกูเลเดอร์ (osmoregulator)
5. การดำรงชีวิตมีทั้งที่หากินเป็นอิสระในน้ำเน่า เช่น อะมีบา สังเคราะห์ด้วยแสง สร้าง อาหารได้เอง เช่น ยูกลีนา เป็นปรสิต เช่น เชื้อไข้จับสั่น
6. การสืบพันธุ์ ตามปกติจะสืบพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ คือการแบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 นอกจากนี้ยังมีการสืบพันธุ์แบบมีเพศ คือการเข้าจับคู่กันหรือการคอนจูเกชัน (conjugation)
7. การเข้าเกราะ (encystment) พบในโปรโตซัวหลายชนิด เช่นยูกลีนา จะเข้าเกราะเมื่อ สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
8. รูปร่างมีหลายแบบ ส่วนใหญ่เป็นรูปไข่ ยาวรี หรือมีรูปร่างไม่แน่นอน
9. อวัยวะเคลื่อนที่ของโปรโตซัวในแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน ซึ่งจะนำมาใช้ในการแบ่ง หมวดหมู่ระดับคลาส เช่น มีแฟลกเจลลา ซีเลีย เป็นต้น
การจัดจำแนก
ไฟลัมโปรโตซัว แบ่งออกเป็น 4 คลาส คือ
1. คลาสแฟลกเจลลาตา (Class Flagellata) เคลื่อนที่โดยใช้แฟลกเจลลัม ซึ่งอาจมีมากกว่า 1เส้น มีทั้งพวกที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระและเป็นปรสิต อาศัยอยู่ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม พวกที่เป็นปรสิต ได้แก่ พวกที่ทำให้เกิดเป็นโรคเหงาหลับคือ ทริปาโนโซมา (Trypanosoma)

ทริปาโนโซมา
ที่มาภาพ http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/BP1/Program/chapter7/p8_3.html
2. คลาสซาโคดินา (Class Sarcodina) เคลื่อนที่โดยใช้เท้าเทียมหรือซูโดโปเดียม (Pseudopodium) ซึ่งเกิดจากการไหลของไซโตพลาสซึม มีทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม เช่น อมีบา (ameba) ซึ่งเป็นปรสิตทำให้เกิดโรคบิดหรือทำให้ท้องร่วง

อมีบา
ที่มาภาพ http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/BP1/Program/chapter7/p8_3.html
3. คลาสซีเลียตา (Class Ciliata) เคลื่อนที่โดยใช้ซิเลีย (cilia) มีทั้งที่ดำรงชีพอย่างอิสระและเป็นปรสิต โดยทั่วไปมีนิวเคลียส 2 ขนาด คือนิวเคลียสขนาดใหญ่ เรียกว่า มาโครนิวเคลียส (Macronucleus) นิวเคลียสขนาดเล็กเรียกว่า ไมโครนิวเคลียส ( Micronucleus) เช่น พารามีเซียม ( Paramicium )

พารามีเซียม
ที่มาภาพ http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/BP1/Program/chapter7/p8_3.html
4. คลาสสปอโรซัว (Class Sporozoa) พวกนี้ไม่มีอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนที่ ดำรงชีวิตเป็นปรสิต สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ และรวมตัวกันคล้ายการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เช่น พลาสโมเดียม (Plasmodium) ซึ่งเป็นเชื้อมาเลเรีย

พลาสโมเดียม
ที่มาภาพ http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/BP1/Program/chapter7/p8_3.html
ขอบคุณที่มา
http://www.thaieditorial.com/tag/โพรโทซัว/
http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/BP1/Program/chapter7/p8_3.html |