<< Go Back

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน          (กฎ) น. ศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติอันได้แก่ คดีพิพาทที่เกิดจากการกระทำทางปกครองไม่ว่าจะเป็นคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน.

ศาลปกครอง คือ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม แต่จะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดี ที่เรียกว่า คดีปกครอง  ศาลปกครองนั้นจะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทที่เกิดระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง

ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมาย ออกคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือมีการกระทำละเมิดหรือต้องรับผิดอย่างอื่นใดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย รวมทั้งคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองด้วย

การจัดตั้งศาลปกครองขึ้น นั้น ส่วนหนึ่ง เป็นผลของ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นอีกศาลหนึ่งที่เรียกว่า ระบบศาลคู่ คือมี ศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและอาญา และมี ศาลปกครอง ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง (Administrative Justice)

 แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจสถานะของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นพร้อมกับองค์กรใหม่ ๆ ตามรัฐธรรมนูญอีกหลายองค์กร จึงมีความเข้าใจว่าเป็นองค์กรที่จัดอยู่ในกลุ่มขององค์กรที่ชอบเรียกกันว่าเป็นองค์กรอิสระ

ศาลปกครองมีเขตอำนาจ (เขตพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง) และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรืออำนาจของศาลปกครอง (อำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาคดีปกครองประเภทต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด) แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ศาลปกครองสูงสุดและ ศาลปกครองชั้นต้น


    ( 1 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎคำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ 

    ( 2 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

    ( 3 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

    ( 4 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง                                                                                                           

    ( 5 ) คดีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด

    ( 6 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง


    ศาลปกครองเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นแยกออกจากศาลยุติธรรม จัดตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตามมาตรา 276 – 280 ในส่วนที่ 4 ว่าด้วยศาลปกครองประกอบด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง การแต่งตั้งตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง การบริหารงานบุคคล และการงบประมาณ
    ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แบ่งศาลปกคองออกเป็น 2 ชั้น คือ
    1. ศาลปกครองสูงสุดเทียบได้กับศาลปกครองชั้นฎีกา มีแห่งเดียวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง มีอำนาจพิจารณาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น หรือคดีอื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 11 ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาคดี ดังนี้
    1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
    2) คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 
    3) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
    4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
    2. ศาลปกครองชั้นต้น ได้แก่ ศาลปกครองครองกลางตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม นอกจากนี้มีอำนาจในระหว่างที่ศาลปกครองในภูมิภาคยังมิได้มีเขตอำนาจ หรือยังมิได้จัดตั้ง
     ศาลปกครองชั้นต้นอีกประเภทหนึ่งคือ ศาลปกครองในภูมิภาคมีทั้งหมด 16 แห่ง คือ ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองชุมพร ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองบุรีรัมย์ ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองแพร่ ศาลปกครองยะลา ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองลพบุรี ศาลปกครองสกลนคร ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสุพรรณบุรี ศาลปกครองอุครธานี และศาลปกครองอุบลราชธานี
    ศาลปกครองชั้นต้นทั้ง 16 แห่งที่กล่าวมาตั้งอยู่ในจังหวัดตามชื่อศาล และมีอำนาจในเขตใกล้เคียง ดังเช่น ศาลปกครองจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว หรือศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน

  ส่วนการฟ้องคดีปกครองนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือความเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 
ลักษณะการฟ้องและการมอบอำนาจ มาตรา 45 โดยคำฟ้องใช้ถ้อยคำสุภาพ และในคำฟ้องต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้คือ
1 .ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี 
2. ชื่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี 
3. การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีพร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
4. คำของผู้ฟ้องคดี
5. ลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่นจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย

http://www.winnews.tv/news/3684

<< Go Back