<< Go Back

   ศาล เป็นองค์กรสาธารณะที่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับพลเมือง แรงงาน กิจการ และอาชญากรรมภายใต้กฎหมาย ในกฎหมายทั่วไปและกฎหมายพลเมือง ศาลนับว่าเป็นทางออกของข้อพิพาทต่างๆ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะนำข้อกล่าวหามาใช้ในศาลได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหาก็มีสิทธิ์ที่จะแก้ต่างในศาลได้เช่นกัน
ในประเทศไทย ศาลเป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๔๐)

         แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
             1. ศาลยุติธรรม ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2425 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีเยาวชนและครอบครัว คดีล้มละลาย คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีภาษีอากร คดีเลือกตั้ง คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นต้น มีนายสบโชค สุขารมณ์ เป็นประธานศาลฎีกา นายวรวุฒิ ทวาทศิน เป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายเชวง ชูศิริ เป็นเลขานุการศาลฎีกา โดยไม่มีตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวประธานศาลฎีกา
             2. ศาลปกครอง จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เปิดทำการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 มี 2 ชั้นศาล คือ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยเฉพาะอันไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น คดีที่เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือ/เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ฯลฯ เป็นต้น มีนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด
             3. ศาลรัฐธรรมนูญ จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2543 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 9 คน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญไว้หลายประการ เช่น การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฏหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้วมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ กระทำการใดเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงและโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ หรือวินิจฉัยมติ หรือข้อบังคับของพรรคการเมือง การพิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นต้น มีนายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เป็นเลขานุการส่วนตัวซึ่งปัจจุบันได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว
             4. ศาลทหาร เป็นศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ศาลทหารแบ่งได้ 3 ประเภทคือ ศาลทหารในเวลาปกติ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ศาลอาญาศึก ศาลทหารปกติมี 3 ชั้นศาลคือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารชั้นกลาง (ชั้นอุทธรณ์) และศาลทหารชั้นสูงสุด (ชั้นฎีกา)"มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด...." เช่น ทหารประจำการ ทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์หรือที่สมัครเข้ากองประจำการเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นทหาร) ส่วนคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เช่น คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน เช่น ทหารกระทำผิดอาญาร่วมกับพลเรือน คดีที่ต้องดำเนินการในศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากอายุของผู้กระทำความผิด เป็นต้น
             ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ ระบบศาลคู่ในประเทศไทยโดยสังเขปตามที่กำหนดในกฏหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แม้จะระบุอำนาจหน้าที่ตามภารกิจทั้งหมดหรือระบบโครงสร้างของศาลแต่ละศาลไม่ครบถ้วนกระบวนความก็ตาม แต่ก็พอทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักประเภทของศาลและระบบศาลคู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ผู้คนในสังคมยังไม่ค่อยรู้ประการหนึ่งก็คือ ศาลยุติธรรมได้แยกออกจากกระทรวงยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 ด้วยแล้วอีกเช่นกัน

http://www.tlcthai.com/education/knowledge-online/content-edu/social/16677.html
http://www.thaijustice.com/Court/LawCourt.htm

<< Go Back