<< Go Back

           - "แอมะซอน" เป็นทั้งชื่อของแม่น้ำสายยาวคดเคี้ยวและป่าฝนเขตร้อนผืนใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหากผนวกเข้ากับอาณาเขตของแม่น้ำสาขาอีกกว่า ๑,๑๐๐ สายกลายเป็นลุ่มแม่น้ำแอมะซอนแล้ว จะมีพื้นที่รวมประมาณ ๖.๗๔ ล้านตารางกิโลเมตรหรือราวๆ ๑ ใน ๓ ของทวีปอเมริกาใต้
           - ลุ่มแม่น้ำแอมะซอนครอบคลุมพื้นที่ ๙ ประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศบราซิล (ร้อยละ ๖๗.๐) รองลงมาเป็นเปรู (ร้อยละ ๑๔.๓) โบลิเวีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เวเนซุเอลา กายอานา ซูรินาเม และเฟรนซ์เกียนา ตามลำดับ
           - ต้นกำเนิดของแม่น้ำแอมะซอนอยู่ในประเทศเปรูบนเทือกเขาแอนดีสทางฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และทอดตัวลัดเลาะผืนป่าทึบไหลออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกที่ประเทศบราซิล รวมระยะทางประมาณ ๖,๔๐๐ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๒ รองจากแม่น้ำไนล์ของทวีปแอฟริกา แต่ปล่อยน้ำจืดลงสู่มหาสมุทรในปริมาณมากที่สุดในโลก
           - น้ำที่หมุนเวียนอยู่ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนคิดเป็นร้อยละ ๑๕ – ๑๖ ของน้ำจืดทั่วโลก การไหลของมันช่วยพัดพาตะกอนดินและแร่ธาตุไปเติมความอุดมสมบูรณ์ ให้แก่พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำ ดินดอนปากแม่น้ำ และระบบนิเวศชายฝั่งมากถึง ๑.๒ ล้านตันต่อปี
           - หากยึดตัวเลขการคาดประมาณที่ว่า โลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิต ๑๒.๕ ล้านชนิดพันธุ์ ป่าแอมะซอนก็เป็นบ้านหลังใหญ่สำหรับ ๑ ใน ๑๐ ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่พบทั่วโลก
           - นับถึงปัจจุบัน ยอดรวมการค้นพบสิ่งมีชีวิตในป่าแอมะซอนที่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์แล้วเป็นดังนี้ : พืช ๔๐,๐๐๐ ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๔๒๗ ชนิด นก ๑,๓๐๐ ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ๓๗๘ ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่า ๔๐๐ ชนิด ปลาน้ำจืดอีกมากกว่า ๓,๐๐๐ ชนิด และแมลงราว ๒.๕ ล้านสายพันธุ์ ถือเป็นสุดยอดของความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่มีพื้นที่ธรรมชาติใดใดเทียบเคียง
           - นอกจากนี้ ป่าฝนเขตร้อนแอมะซอนยังมีบทบาทสำคัญต่อชั้นบรรยากาศโลก เพราะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของที่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลก …หรือปอดขนาดใหญ่ดีๆ นี่เอง
           - สิ่งที่คุกคามป่าแอมะซอนมากที่สุดคือการตัดไม้ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบตัด มีรายงานว่าช่วงปี ค.ศ. ๒๐๐๒–๒๐๐๗ การตัดไม้เฉพาะในเขตประเทศบราซิล ทำให้พื้นที่ป่าแอมะซอนหายไปวันละ ๕๒ ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว



 


      https://myfreezer.wordpress.com/2011/01/14/superb-amazon/

<< Go Back