<< Go Back

โบราณวัตถุ

      คำว่า “โบราณวัตถุ” ถือได้ว่าเป็นคำที่อยู่ควบคู่กับคำว่าโบราณสถานเสมอ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้ให้ความหมายของคำว่าโบราณวัตถุ ไว้ว่าหมายถึง “ของโบราณ” แต่ความหมายดังกล่าวก็เปลี่ยนไปตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สิ่งของโบราณที่เคลื่อนที่ได้ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ศิลาจารึก มีอายุเก่ากว่า 100 ปี ขึ้นไป “ พร้อมทั้งให้ความหมายทางกฎหมายไว้ด้วยว่า “สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์ หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี” ซึ่งความหมายดังกล่าวก็ยังใช้อยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542

      เมื่อเปรียบเทียบความหมายของคำว่าโบราณวัตถุตามพจนานุกรมแล้วจะเห็นวิวัฒนาการของคำนี้อย่างหนึ่งว่าในปี พ.ศ. 2525 ได้นำเรื่องการเคลื่อนที่ได้หรือไม่ และสิ่งของต้องมีอายุเก่ากว่า 100 ปีขึ้นไป มาเป็นเกณฑ์พิจารณาว่าสิ่งใดคือโบราณวัตถุ ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับความหมายของคำว่าโบราณสถานที่ต้องเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ มีอายุเก่ากว่า 100 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการให้ความหมายในทางกฎหมายไว้ในพจนานุกรมอีกด้วย

ที่มารูป  http://www.arthousegroups.com/artshow.php?art_showcase_id=353

      สำหรับคำจำกัดความเฉพาะที่ใช้ในบทบัญญัติของกฎหมายปรากฏนิยามคำว่า “โบราณวัตถุ” ครั้งแรกในพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งโบราณและศิลปวัตถุออกนอกประเทศ พุทธศักราช 2469 ซึ่งให้หมายความว่า “สังหาริมทรัพย์โบราณอย่างหนึ่งอย่างใดจะเป็นของเกิดในประเทศนี้เองก็ดี ฤาได้มาจากประเทศอื่นก็ดี ซึ่งเป็นประโยชน์ให้ความรู้ฤาประโยชน์แก่การศึกษาในทางพงศาวดารและโบราณคดี” ก่อนหน้านี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุแต่ยังมิได้ใช้คำว่าโบราณวัตถุโดยตรงแต่ใช้คำว่าของโบราณ ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏในประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณ พุทธศักราช 2466 ต่อมามีการบัญญัตินิยามคำว่าโบราณวัตถุใหม่โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2477 ได้นิยามคำว่าโบราณวัตถุไว้ หมายความว่า “ของโบราณอย่างหนึ่งอย่างใด จะเป็นของเกิดในประเทศสยามหรือต่างประเทศก็ดี ซึ่งให้ความรู้หรือเป็นประโยชน์แก่การศึกษาในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี” และในปี พ.ศ. 2504 นิยามคำว่า “โบราณวัตถุ” ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้กำหนดให้หมายความว่า “สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือ ซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี” ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

      ความหมายของคำว่า “โบราณวัตถุ” มีส่วนคล้ายคลึงกับคำว่า “โบราณสถาน” ตรงที่มุ่งไปที่ศาสตร์ด้านศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี แต่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือ “โบราณสถาน” กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่วน “โบราณวัตถุ” นั้นกฎหมายกำหนดว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ของบางอย่างแม้เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถานแต่เมื่อหลุดหรือแยกจากโบราณสถาน ก็อาจจะกลายเป็นโบราณวัตถุได้

ที่มารูป  http://www.arthousegroups.com/artshow.php?art_showcase_id=353

 


http://www.baanjomyut.com/library_2/antiquities/index.html

<< Go Back