<< Go Back
            นับตั้งแต่การจัดตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนขึ้นใน ปี 2510 อาเซียนได้กำหนดนโยบายและดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนา เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศสมาชิกและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการสิ้นสุดยุคสงครามเย็นในปี 2532 สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากการเผชิญหน้าทางทหาร และความขัดแย้งเป็นความร่วมมือ การพึ่งพาอาศัยกัน และการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้า
             เพื่อให้ความมุ่งมั่นในการยกระดับความร่วมมือด้านสังคมของอาเซียนประสบผล สำเร็จ ประเทศไทยได้เสนอแนวความคิดในการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อการพัฒนาสังคมในปี 2539 อาเซียนได้หารือร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวความคิดดังกล่าว และได้จัดตั้งกองทุนที่สำคัญซึ่งอยู่ภายใต้ องค์กรใหม่ของอาเซียนมีชื่อว่า "มูลนิธิอาเซียน" (ASEAN Foundation) ขึ้นในปี 2540 โดยรัฐมนตรี ต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งขณะนั้นมี 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสชาลาม อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วย การจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน (Memorandum of Understanding on the Establishment of the ASEAN Foundation) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการเพื่อการพัฒนา มูลนิธิอาเซียน มีสถานะเป็นนิติบุคคล สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกของความเป็นอาเซียนในหมู่ประชาชนให้มากขึ้น สนับสนุนการ ติดต่อระหว่างประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมของอาเซียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและบรรเทาความยากจน กลไกด้านการบริหารที่สำคัญของมูลนิธิอาเซียนได้แก่ คณะกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการบริหาร สภาที่ปรึกษา และคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการมูลนิธิอาเซียนซึ่งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศ อินโดนีเซีย สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ถดถอยของอาเซียนในช่วงระหว่างปี 2540 - 2542 มิได้ทำให้มูลนิธิอาเซียนท้อแท้ต่อการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มูลนิธิ อาเซียนยังคงเพียรพยายามดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในอาเซียน กิจกรรมสำคัญของมูลนิธิอาเซียนคือ สนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษา/ การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนเยาวชนและนักเรียน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ นักวิชาชีพและนักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ มูลนิธิอาเซียนมีเงินทุนที่มาจากการบริจาคของประเทศสมาชิกอาเซียนตามความสมัครใจ และการบริจาคจากประเทศภายนอกได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีชื่อว่า "solidarity fund" จีน จำนวน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ และสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐเป็นที่คาดหวังว่าในอนาคต มูลนิธิอาเซียนจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาคเอกชนและมูลนิธิอื่น ๆ เพื่อการดำเนินงานด้านการพัฒนา นอกจากนี้เพื่อให้มูลนิธิอาเซียนมีหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน ฉบับปี 2540 และได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียนขึ้นใหม่
             โดยยังคงรักษาข้อบทของบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับปี 2540 แต่ได้เพิ่มเติมข้อบทบางประการ และกำหนดจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน ฉบับแก้ไข โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นช่วงของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2543 ที่กรุงเทพฯ อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายสำคัญของมูลนิธิอาเซียนคือ การพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในภูมิภาคนี้ กิจกรรม/โครงการของมูลนิธิอาเซียนจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนด้านการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคนซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาทั้งมวล


http://www.ryt9.com/s/ryt9/260106


<< Go Back