<< Go Back

          เป็นระบบการปกครองในยุโรปสมัยกลางที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์และการดำรงชีวิตของคน ในสังคม โดยเฉพาะยุโรปตะวันตกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

กำเนิดระบบฟิวดัล
          ระบบฟิวดัลมีพัฒนาการมาตั้งแต่จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจ และปรากฏชัดเจนในปลายสมัยราชวงศ์คาโรแลงเจียน (Carolingian) ของพวกแฟรงค์ เมื่อกษัตริย์เสื่อมอำนาจลงได้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง ทำให้พวกเยอรมันเผ่าอื่นรุกราน ส่งผลให้ ประชาชนขาดความมั่นคงและหันไปพึ่งขุนนางที่ปกครองท้องถิ่นของตนซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดตั้งกองทัพและออกกฎหมายของ ตนเอง ต่อมาจักรพรรดิชาร์ลมาญ (Charlemagne ค.ศ. 768-814) แห่งราชวงศ์คาโรแลงเจียนสิ้นพระชนม์ อาณาจักรของพวกแฟรงค์ ถูก แบ่งแยกเป็น 3 ส่วนและมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้ปกครองทั้งสาม ซึ่งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากขุนนางที่มีอำนาจปกครอง เขตต่างๆ ส่วนราษฎรที่อาศัยอยู่ในแต่ละเขตก็ต้องพึ่งพาขุนนางของตนด้วย ทำให้ขุนนางแต่ละเขตปกครองมีอำนาจมาก ส่วนกษัตริย์หรือ ประมุขของดินแดนต่างๆ ไม่มีอำนาจที่แท้จริง


จิตรกรรมอัศวินโรแลนด์ สาบานตนจงรักภักดีต่อจักรพรรดิชาร์ลมาญ
ภายใต้ความสัมพันธ์ในระบบฟิวดัล

          ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบฟิวดัลเป็นระบบอุปถัมภ์ มีที่ดิน (fief) เป็นสิ่งกำหนดฐานะและความสัมพันธ์ของคนในสังคม โดยเป็น การตกลงร่วมกันระหว่างลอร์ด (lord) หรือ “เจ้า” หรือผู้ให้ถือครองที่ดินกับ “ข้า” หรือ วาสซาล (vassal) หรือผู้ถือครองที่ดินว่า แต่ละฝ่าย มีพันธะหน้าที่ต่อกัน โดยเจ้าจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่ข้าเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินนั้น รวมทั้งให้ความคุ้มครอง ดูแลเมื่อเกิดภัยสงคราม ส่วนข้าต้องสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อเจ้า รวมทั้งส่งเงินและกองทัพไปร่วมรบในสงครามด้วย ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีสถานะเป็น “เจ้า” ของขุนนางทั้งหลาย เนื่องจากในสมัยกลางถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของกษัตริย์ ดังนั้นขุนนางที่ครอบครอง ดินแดนต่างๆ ในเขตของตน จึงเป็น “ข้า” ของกษัตริย์ และนำที่ดินทั้งหมดไปแบ่งให้แก่ “ข้า” ของตน คือ ขุนนางลำดับรองๆ ลงไปอีกทอดหนึ่ง ขุนนางแต่ละคนซึ่ง รับที่ดินไปจะเป็นเจ้าของหน่วยปกครองหรือแมเนอร์ (manor) ของตน และมีฐานะเป็น “เจ้า” ของราษฎรที่เข้าอาศัยอยู่ในเขตปกครอง ของตน อนึ่ง พระซึ่งดูแลวัดในเขตปกครองต่างๆ ก็มีสถานะเป็น “ข้า” ของขุนนางด้วยเพราะ วัดก็รับที่ดินจากขุนนาง ในสังคมระบบ ฟิวดัลยังมีทาสติดที่ดิน (serf) ซึ่งต้องทำงานในที่ดินของเจ้า และไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจาก นี้ยังมีพวกเสรีชนซึ่งเช่าที่ดินจากเจ้าของแมเนอร์และสามารถเดินทางออกนอกเขตแมเนอร์ได้โดยอิสระ

สภาพสังคมในสมัยฟิวดัล
          ระบบสังคมในสมัยฟิวดัลซึ่งรวมถึงระบบสังคม เศรษฐกิจ และการปกครอง เรียกว่าระบบแมเนอร์ (Manorialism) มีศูนย์กลางอยู่ที่ แมเนอร์ของขุนนางแต่ละคน แมเนอร์แต่ละแห่งมีลักษณธคล้ายคลึงกันกล่าวคือ มีคฤหาสน์หรือปราสาทของ ขุนนางเป็นศูนย์กลาง มีป้อมและกำแพงล้อมรอบ ภายนอกคฤหาสน์รายล้อมด้วยหมู่บ้านขนาดเล็กของชาวนาที่เป็นข้าของขุนนาง รวมทั้งโบสถ์และพื้นที่เพาะ ปลูก แต่ละแมเนอร์เป็นหน่วยเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยการผลิตจากภายนอก เว้นแต่สินค้าจำเป็น เช่น เกลือ เหล็ก และ น้ำมันดิบ ในระบบแมเนอร์ พวกข้าจะแบ่งผลผลิตของตนให้แก่เจ้า รวมทั้งการอุทิศแรงงานทำการเพาะปลูกในที่ดินของเจ้า ผู้ที่อาศัย อยู่ในแมเนอร์จะได้รับความคุ้มครองจากขุนนางเมื่อถูกศัตรูรุกราน เช่น สามารถหลบหนีเข้าไปอยู่ในเขตกำแพงของคฤหาสน์หรือปรา สาทได้

          อนึ่ง สังคมแบบฟิวดัลยังยึดถือจรรยาของอัศวินหรือวีรคติ (Chivalry) โดยฝึกหัดเด็กชายให้เเป็นอัศวินที่กล้าหาญ มีคุณธรรม และเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งเป็นแบบฉบับที่สุภาพบุรุษตะวันตกยึดถือต่อมา

ความเสื่อมของระบบฟิวดัล
          ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 เศรษฐกิจในดินแดนยุโรปที่ซบเซาไปตั้งแต่จักรวรรดิโรมันล่มสลายเริ่มเจริญเติบโต เมืองต่างๆ ที่เคยเป็น ศูนย์กลางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีเมืองศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะเมืองท่า และเมืองที่อยู่บริเวณ ปากแม่น้ำ เป็นต้นว่า นครรัฐในแหลมอิตาลีซึ่งติดต่อค้าขายกับดินแดนต่างๆ รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เกาะอังกฤษในเขตทะเลเหนือ และดินแดนแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือแคว้น แฟลนเดอร์ (Flander) ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน เขตประเทศเบลเยียมและตอนเหนือของฝรั่งเศส แคว้นแฟลนเดอร์อยู่ติดกับชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและมีแม่น้ำไรน์ไหลผ่าน ทำให้ บริเวณนี้เป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญ เพราะสามารถติดต่อกับอังกฤษดินแดนเยอรมันและแถบทะเลบอลติกทางตอนเหนือได้สะดวก เมือง ท่าที่เจริญรุ่งเรืองเหล่านี้ดึงดูดให้ผู้คนที่ทำงานอยู่ในแมเนอร์โดยเฉพาะทาสติดที่ดินย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง เพราะมีงานรองรับและยัง ได้สิทธิในฐานะชาวเมือง ไม่ต้องทำงานในแมเนอร์ให้แก่เจ้าของที่ดิน จึงเป็นผลให้ระบบแมเนอร์เสื่อมลง

          กล่าวได้ว่า การเติบโตของเมืองต่างๆ ประกอบกับกษัตริย์ของยุโรปมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้นทำให้อำนาจขุนนางและระบบฟิวดัล เสื่อมไปในที่สุด

ผลกระทบของระบบฟิวดัลต่อพัฒนาการของยุโรป

ระบบฟิวดัลก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อพัฒนาการของยุโรป ทั้งด้านการเมืองและสังคม

          พัฒนาการทางการเมือง ระบบฟิวดัลส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองของยุโรปเพราะมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการ ปกครอง ท้องถิ่นของดินแดนต่างๆ ในยุโรป การส่งเสริมให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและมีจิตสำนึกร่วมกัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนารัฐชาติและอุดมการณ์เสรีนิยม

          พัฒนาการทางสังคม สังคมยุโรปในระบบฟิวดัลมีประชากร 2 กลุ่มใหญ่ คือผู้ปกครองหรือเจ้า และกลุ่มผู้อยู่ใต้ปกครองหรือข้า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงปลายสมัยฟิวดัล ได้เกิดกลุ่มพ่อค้าและสมาคมช่างฝีมือหรือสมาคมอาชีพ (Guild) ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มี บทบาท สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการขยายการค้า กลุ่มชนชั้นกลางเหล่านี้มีฐานะดี และมีบทบาทสำคัญทางการเมือง และเศรษฐกิจของยุโรปในเวลาต่อมา

ที่มา - metricsyst.wordpress.com/2013/02/11/ระบบฟิวดัลในสมัยกลาง/

<< Go Back