<< Go Back

             องค์การระหว่างประเทศ หมายถึง องค์การที่รัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปร่วมกันก่อตั้ง มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำ และมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา นโยบายขององค์การระหว่างประเทศจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของรัฐสมาชิก การเข้าเป็นสมาชิกเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐ ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่แน่นอน

ที่มา : http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=368571

1. สันนิบาตชาติ (League of Nations)
             สันนิบาตชาติ  เป็นองค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพ ของโลก โดยมีการประชุมครั้งแรกเพื่อพิจารณาก่อตั้งสันนิบาตชาติเกิดขึ้นที่ กรุงเจนีวาประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 มีประเทศที่เข้าร่วมประชุม 42 ประเทศ

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/สันนิบาตชาติ

             ใน ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson)  ได้เสนอข้อเสนอ 14 ประการ (Fourteen Points) เข้าพิจารณาเพื่อเป็นแนวในการเจรจาสันติภาพและจัดระเบียบโลกหลังสงคราม ประการหนึ่งในข้อเสนอ 14 ประการนั้นคือแผนการจัดตั้งสมาคมนานาชาติ ซึ่งแผนการนี้เป็นพื้นฐานให้แก่กฎบัตรสันนิบาตชาติ ซึ่งมีกฎอยู่ 26 ประการด้วยกัน
             การตั้งสมาคมนานาชาติที่เรียกว่า สันนิบาตชาติ (League of Nations) เพื่อวัตถุประสงค์ ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ลงนามกันที่ พระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) [1] ใน ค.ศ. 1919 แต่เนื่องจากมาตรา 10 ซึ่งระบุว่าชาติสมาชิกจะร่วมมือกันเพื่อรักษาเอกราชของชาติสมาชิก และหากจำเป็นก็จะร่วมมือกันต่อสู้กับชาติรุกราน ซึ่งมีนัยว่าเป็นการเข้าสงครามจึงทำให้วุฒิสภาของสหรัฐฯ ไม่ยอมให้สัตยาบันแก่องค์การสันนิบาตชาติ แต่ถึงแม้สหรัฐฯ จะไม่ได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ สหรัฐฯ ก็เข้าร่วมประชุมและสนับสนุนกิจกรรมของสันนิบาตชาติอย่างไม่เป็นทางการ การขาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจสำคัญเป็นสมาชิก ทำให้องค์การสันนิบาตชาติขาดความเข้มแข็ง
2. องค์การสหประชาชาติ (United Nations)

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/สหประชาชาติ

             องค์การสหประชาชาติได้รับการก่อตั้งจากการประชุมนานาชาติที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1945 ในการประชุมครั้งนี้สมาชิกได้ร่วมกันร่างกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งมี 50 ประเทศร่วมลงนามรับรองการก่อตั้งองค์การนานาชาติใน ค.ศ. 1945 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานสาขาอยู่ในหลายประเทศ สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติอยู่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
             องค์การสหประชาชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อ
             1. รักษาสันติภาพและความปลอดภัยของนานาชาติ
             2. พัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างนานาประเทศ
             3. ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเสรีภาพ ขั้นพื้นฐาน
             4. เป็นศูนย์ประสานงานกิจกรรมของชาติต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้หนังสือ

3. องค์การความร่วมมือทางทหาร
             3.1องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หรือนาโต (NATO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1949 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
             1. ร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศสมาชิกในลักษณะการป้องกันร่วมเพื่อรักษาสันติภาพ และความมั่นคงของประเทศสมาชิก
             2. ช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งจุดมุ่งหมายที่แท้จริงขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือก็คือการร่วมมือ เพื่อป้องกันมิให้สหภาพโซเวียตขยายอิทธิพลเข้ามาในยุโรปตะวันตกโดยมีสหรัฐฯ เป็นสมาชิกสำคัญ
             องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
             หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้ปรับทิศทางขององค์การมาเน้นทางด้านการเมือง และการจัดกองกำลังทหารเพื่อการปฏิบัติการเร็ว สำหรับแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995 องค์การสนธิ สัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือเป็นผู้นำกองกำลังนานาชาติเข้ารักษาสันติภาพในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ใน ค.ศ. 1999 องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้ส่งกองทหารเข้ารักษาสันติภาพใน โคโซโว (Cosovo) [2]
             หลังจากเหตุการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และอาคารเพนตากอนที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 แล้ว องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้ใช้มาตรการของสนธิสัญญาเป็นครั้งแรก และได้ส่งกองกำลังนานาชาติเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัย (International Security Assistance Force) เข้าไปเป็นผู้นำในการปฏิบัติการในอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือส่งกองกำลังออกไปปฏิบัติการนอกทวีปยุโรป

 

.

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/องค์การการค้าโลก

            องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นองค์การระหว่างประเทศ สังกัดสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิก 150 ประเทศ (ประเทศล่าสุดคือ ประเทศตองกา ) กำเนิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1995 เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลและดำเนินการเพื่อให้เกิด การค้าเสรี [3] ระหว่างประเทศ โดยเป็นองค์การที่เป็นผลตามมาของข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade) หรือที่เรียกชื่อย่อว่า แกตต์ (GATT)    ซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1947

 

สำนักงานใหญ่ของ WTO ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ที่มา : http://www.l3nr.org/posts/429853

            องค์การการค้าโลกมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศที่เป็นสมาชิกให้ดีขึ้น ด้วยการลดกำแพงการค้าและเปิดเวทีให้มีการเจรจากันเกี่ยวกับเรื่องการค้า เพื่ออำนวยให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปโดยสะดวก ด้วยการจัดให้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามความพร้อมของประเทศสมาชิกและระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก องค์การการค้าโลกได้กำหนดกฎกติกาต่างๆ ให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษแก่ ประเทศกำลังพัฒนา (Special and Differential Treatment: S&D)[4] เพื่อให้สามารถเข้าร่วมในระบบการค้าพหุภาคีได้ องค์การการค้าโลกจึงเป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง จะมีการเจรจาเพื่อพัฒนาและสร้างกฎกติกาใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรองรับกับวิวัฒนาการของการค้าระหว่างประเทศและรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง
            สมาชิกขององค์การการค้าโลกมีสิทธิและพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่างๆ และกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก นอกจากช่วยส่งเสริมให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้งผู้ค้าและผู้ลงทุน ผู้ผลิตและส่งออก ให้สามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศล่วงหน้าได้

            1. ดูแลให้สมาชิกประเทศปฏิบัติตามพันธกรณี
            2. เป็นเวทีสำหรับการเจรจาทางการค้าระหว่างสมาชิก
            3. เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก และหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะรวมทั้งมีกลไกยุติข้อพิพาทด้วย

องค์การการค้าโลกได้กำหนดกรอบแนวนโยบายการค้าให้สมาชิกประเทศปฏิบัติตาม ดังนี้
            1. หลักไม่กีดกัน (Non-discrimination) หลักการนี้ประกอบด้วยกติกา 2 ประการ คือ หลักการชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most favoured nation) กับหลักการปฏิบัติต่อกันประดุจเป็นชาติเดียวกัน (National treatment)
            2. หลักต่างตอบแทน (Reciprocity) เพื่อป้องกันการเอาเปรียบทางการค้าอันเนื่องมาจากหลักการชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ
            3. หลักข้อตกลงที่เป็นข้อผูกพันและสามารถบังคับใช้ได้ (Binding and enforceable commitments) เป็นข้อตกลงทางด้านภาษีศุลกากรที่สมาชิกลงนามรับรองในการเจรจาการค้าพหุภาคี ซึ่งถือเป็นข้อผูกมัดที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม แต่สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนี้ได้ด้วยการเจรจากับประเทศคู่ค้าของตน หากประเทศคู่ค้าไม่พอใจก็อาจร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกให้เป็นผู้พิจารณาข้อพิพาทนั้น
            4. หลักความโปร่งใส (Transparency) สมาชิกต้องพิมพ์กฎเกณท์ทางการค้าของตนเผยแพร่ มีหน่วยงานรับผิดชอบในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้า และสามารถให้ข้อมูลทางการค้าแก่สมาชิกที่ขอและเป็นผู้แจ้งให้สมาชิกประเทศทราบถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายการค้าใดๆ
            5. หลักประกันความปลอดภัย (Safety valves) กำหนดไว้ว่าในกรณีพิเศษ รัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งอาจจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อจำกัดการค้าได้ ดังนี้
            1) ในกรณีที่ต้องการใช้การค้าเป็นมาตรการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ
            2) เมื่อมาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการแข่งขันที่ยุติธรรม
            3) เงื่อนไขที่อนุญาตให้สามารถใช้การแทรกแซงทางการค้าเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/สหภาพยุโรป

            สหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มของประเทศยุโรปตะวันตกเพื่อสร้างเอกภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน การต่างประเทศ สังคม และวัฒนธรรมโดยมีเป้าหมายคือ ยุโรปที่ไร้พรมแดน สหภาพยุโรปพัฒนามาจากการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือของยุโรปที่ก่อตั้งมาก่อน คือ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป หรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel community: ECSC ค.ศ. 1952) ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีซีซี   (European Economic Community: EEC: ค.ศ. 1958) และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community: EURATOM ค.ศ. 1958) ประชาคมทั้ง 3 ได้รวมตัวกันเป็นประชาคมยุโรป (European Community: EC) เมื่อ ค.ศ. 1967 ภายหลังการลงนามใน สนธิสัญญามาสทริกต์  (Maastricht Treaty: ค.ศ. 1992) ทำให้เกิดสหภาพยุโรปหรืออียูขึ้นใน ค.ศ. 1993 นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรสำคัญต่อการรวมตัวของยุโรป เช่น การจัดตั้งตลาดเดียวของยุโรป (Single Economic Marget: ค.ศ. 1993) ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี (European Central Bank: ECB ค.ศ. 1999) สหภาพยุโรปมีประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ประกอบด้วยฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก อังกฤษ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน โปรตุเกส และสวีเดน

            สหภาพยุโรปกำหนดให้ใช้เงินสกุลเดียวกันคือ เงินยูโร (Euro) เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 และกำหนดให้เงินยูโรเป็นหน่วยเงินจริงในระบบเศรษฐกิจของสหภาพเศรษฐกิจ และการเงินหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union: EMU) สมาชิก ได้แก่ ประเทศออสเตรีย เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน ส่วนทางด้านการเมืองมีองค์กรหลัก คือ รัฐสภายุโรป (European Parliament) นอกจากนี้ยังให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา และหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของประเทศสมาชิก

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน [5] ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1967 ในการประชุมที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
            1. ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และด้านการบริหารการจัดการ
            2. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
            สมาชิกเริ่มแรกของอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาภายหลังยุคสงครามเย็น อาเซียนได้พยายามสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะขยายจำนวนประเทศสมาชิกให้เป็น 10 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อมามีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ บรูไนใน ค.ศ. 1984 เวียดนามใน ค.ศ. 1995 ลาวและพม่าใน ค.ศ. 1997 กัมพูชาใน ค.ศ. 1999
            อาเซียนมีประชากรกว่า 500 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 1992 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ขึ้น และส่งเสริม ความร่วมมือกับ ประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย และนับตั้งแต่ ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา อาเซียนได้เสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้วยการ
            1. แถลงแนวทางในอนาคตของอาเซียนเมื่อถึง ค.ศ. 2020 (ASEAN Vision 2020)
            2. จัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers Meeting: AFMM)
            3. ริเริ่มความร่วมมือในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก (ASEAN Surveillance Process) และความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี
            ใน ค.ศ. 1999 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้แถลงแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Plan of Action) ซึ่งประกอบด้วย 11 แผนงาน รวมทั้งอนุมัติแผนดำเนินการทางด้านการเงินการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Work Programme 1999 - 2003) และแบ่งสรรหน้าที่ให้ประเทศสมาชิกรับผิดชอบ
            อาเซียนมีสำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เลขานุการให้แก่การประชุมอาเซียน รวมทั้งประสานงานและเสริมสร้างการดำเนินการตามนโยบาย โครงการและกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียน
            อาเซียนมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers Meeting: AFMM) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies Meeting: AFDM) 2 ครั้งต่อปี โดยประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)

            เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความเจริญเติบโตและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาชิกอาเซียนจึงตกลงจัดตั้ง เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (AFTA) ขึ้นในการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ใน ค.ศ. 1992 โดยมี จุดมุ่งหมายให้เกิดเขตการค้าเสรีขึ้นภายในระยะเวลา 15 ปี วัตถุประสงค์ของอาฟตา การก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
            1. เพิ่มปริมาณการค้าภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
            2. สร้างแรงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น
            3. ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นฐานการผลิตที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก

การดำเนินการของอาฟตา

            เนื่องจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน จึงได้มีการดำเนินการ ดังนี้
            1. ปรับปรุงกระบวนการการตรวจคนเข้าเมืองและระบบภาษีของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกัน เช่น
                1) ปรับขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกัน
                2) ปรับคำใช้เรียกภาษีศุลกากรให้สอดคล้องกัน
                3) ให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการประเมินราคาของแกตต์
                4) อำนวยความสะดวกพิธีการตรวจคนเข้าเมืองด้วยการจัดช่องทางพิเศษ
            2. ลดอุปสรรคอันเกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น
                1) ยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจคนเข้าเมือง
                2) ปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการตรวจประเมินเพื่อการรับรองของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกัน
                3) จัดทำข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) ด้านต่างๆ

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก (ASIA-PACIFIC Economic Cooperation: APEC)

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก

            เอเปกก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันเอเปกมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 21 ประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีน เขตปกครองพิเศษจีนไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม โดยประเทศไทยเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุม เอเปกใน ค.ศ. 2003 วัตถุประสงค์ของเอเปก

การก่อตั้งเอเปกมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

            1. พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าทวิภาคี
            2. สนับสนุนการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก
            3. ลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก
            4. ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ความร่วมมือภายใต้กรอบของเอเปก
            เอเปกไม่ได้จัดว่าเป็นองค์การความร่วมมือ แต่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกสนใจ การดำเนินการให้ยึดหลักฉันทามติ ความเท่า เทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก มีสำนักงานดำเนินการอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์

องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of the Petroleum Exporting Countries: OPEC)

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/โอเปก

            องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of the Petroleum Exporting Countries)  หรือเรียกชื่อย่อกันว่า โอเปก (OPEC) ตั้งขึ้นในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1960 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับนโยบายการผลิตและการกำหนดราคาน้ำมันปิโตรเลียม (หรือน้ำมันดิบ) ของประเทศสมาชิก

 

<< Go Back