<< Go Back 

          การบำรุงรักษา (Maintenance) หมายถึง :“การพยายามรักษาสภาพของเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ให้มีสภาพที่พร้อมจะใช้งานอยู่ตลอดเวลา”

         การบำรุงรักษานั้นครอบคลุมไปถึงการซ่อมแซมแซม (Repair) เครื่องด้วย ในงานบริหารการผลิตหรือการบริการ มักจะหลีกเลี่ยงงานเพิ่มเติมที่สำคัญงานหนึ่งคือ การซ่อมและบำรุงรักษา ไปไม่ได้ ถึงแม้ว่างานซ่อมและบำรุงรักษาไม่ใช่งานผลิตโดยตรง แต่งานซ่อมและบำรุงรักษาก็มีบทบาทช่วยให้การผลิตและการบริการขององค์กรนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่การผลิตและการบริการจำเป็นที่จะต้องอาศัยอุปกรณ์และเครื่องจักรมากขึ้น การที่เครื่องจักรเกิดขัดข้องขึ้นมากะทันหันหรือไม่สามารถใช้งานได้ จะทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการผลิตและการบริการนั้นๆ การที่จะได้มาซึ่งเครื่องจักรที่มีคุณภาพนั้น ต้องประกอบด้วย

(1)   มีการออกแบบที่ดีและตรงตามความประสงค์ต่อการใช้งาน มีความเที่ยงตรงแม่นยำ รวมทั้ง สามารถทำงานได้เต็มกำลังความสามารถที่ออกแบบไว้

(2)   มีการผลิต (หรือสร้าง) ที่ให้ความแข็งแรงทนทาน สามารถทำงานได้นานที่สุด และ ตลอดเวลา

(3)   มีการติดตั้งในสถานที่ที่เหมาะสมและสะดวกต่อการใช้งาน

(4)  มีการใช้เป็นไปตามคุณสมบัติและสมรรถนะของเครื่อง

(5)  มีระบบการบำรุงรักษาที่ดีเนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้เมื่อถูกใช้งานไปนาน ๆ ก็ต้องมีการ เสื่อมสภาพ ชำรุด สึกหรอ เสียหายขัดข้อง ดังนั้น เพื่อให้อายุการใช้งานเครื่องมือเครื่องใช้ยืนยาว สามารถใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ไม่ชำรุดหรือเสียบ่อยๆ ต้องมี “การบำรุงรักษา เครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้” ในระบบการดำเนินงานด้วย จึงจะสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

         จุดมุ่งหมายของการบำรุงรักษา

1. เพื่อให้เครื่องมือใช้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล  (Effectiveness)  คือ  สามารใช้เครื่องมือเครื่องใช้ได้เต็มความสามารถและตรงกับวัตถุประสงค์ที่จัดหามามากที่สุด

2. เพื่อให้เครื่องมือเครื่องใช้มีสมรรถนะการทำงานสูง  (Performance) และช่วยให้เครื่องมือเครื่องใช้มีอายุการใช้งานยาวนาน  เพราะเมื่อเครื่องมือได้ใช้งานไประยะเวลาหนึ่งจะเกิดการสึกหรอ  ถ้าหากไม่มีการปรับแต่งหรือซ่อมแซมแล้ว  เครื่องมืออาจเกิดการขัดข้อง  ชำรุดเสียหายหรือ  ทำงานผิดพลาด

3. เพื่อให้เครื่องมือเครื่องใช้มีความเที่ยงตรงน่าเชื่อถือ (Reliability) คือ  การทำให้เครื่องมือเครื่องใช้มีมาตรฐาน   ไม่มีความคลาดเคลื่อนใด ๆ เกิดขึ้น

 4. เพื่อความปลอดภัย (Safety) ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญ  เครื่องมือเครื่องใช้จะต้องมีความปลอดภัยเพียงพอต่อผู้ใช้งาน  ถ้าเครื่องมือเครื่องใช้ทำงานผิดพลาด  ชำรุดเสียหาย  ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ  และการบาดเจ็บต่อผู้ใช้งานได้  การบำรุงรักษาที่ดีจะช่วยควบคุมการผิดพลาด

5. เพื่อลดมลภาวะของสิ่งแวดล้อม เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ที่ชำรุดเสียหาย  เก่าแก่  ขาดการบำรุงรักษา  จะทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  เช่น  มีฝุ่นละอองหรือไอของสารเคมีออกมา  มีเสียงดัง  เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง

6. เพื่อประหยัดพลังงาน  เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ส่วนมากจะทำงานได้ต้องอาศัยพลังงาน  เช่น  ไฟฟ้า  น้ำมันเชื้อเพลิง  ถ้าหากเครื่องมือเครื่องใช้ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพดี  เดินราบเรียบไม่มีการรั่วไหลของน้ำมัน  การเผาไหม้สมบูรณ์  ก็จะสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง  ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

 

          การบำรุงรักษาเครื่องมือ
         เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงฝึกงานส่วนใหญ่จะมีราคาแพง ถ้าหากมีการชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแล้วย่อมจะเป็นการเปลืองงบประมาณของสถานศึกษาเป็นอย่างมาก
         การบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องมือนับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ควรทำการซ่อมแซมต่อเมื่อได้เกิดข้อบกพร่องบางอย่างแก่เครื่องจักรแล้วเท่านั้น ควรป้องกันโดยการบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องมือเหล่านั้นให้สามารถใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ

 

         วัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์
          การบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องมือมีวัตถุประสงค์หลายๆประการ ได้แก่
1. เพื่อชะลอความเสื่อมสภาพของเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์
2. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด และส่วนที่เกี่ยวข้อง
3. เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานเนื่องจากอุบัติเหตุ
4. เพื่อลดเวลาสูญเปล่าเนื่องจากต้องหยุดทำงาน เนื่องจากการซ่อมแซม
5. เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงาน

 

         ลักษณะของการบำรุงรักษา
         การบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องมือแบ่งออกเป็น 2ลักษณะคือ
1. การบำรุงรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียหาย
2. การซ่อมบำรุงเมื่อเครื่องจักรอุปกรณ์ชำรุด

 

         ขั้นตอนการบำรุงรักษาเพื่อป้องกัน
1. กำหนดนโยบายในการบำรุงรักษา
2. ทำการเลือกและกำหนดอุปกรณ์เครื่องจักรอุปกรณ์ที่สำคัญ
3. ทำการกำหนดมาตรฐาน
4. การวางแผนบำรุงรักษา
5. การวางแผนตรวจสอบ
6. การดำเนินการ
7. การบันทึก
8. การประเมินผล


         ผลเนื่องมาจากการจัดมาตรการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง   
1. ทำให้สามารถซ่อมเครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องมือที่ชำรุดได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว  ผู้ซ่อมไม่ต้องเสียเวลาวินิจฉัยสาเหตุและวิธีแก้ไขอาการที่ปรากฏออกมาและยังช่วยให้ซ่อมได้ถูกจุดอีกด้วย
2. สามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานซ่อมและบำรุงรักษา โดยยกสาเหตุและวิธีแก้ไขในแต่ละเรื่องไปเป็นหัวข้อเรื่องสำหรับพิจารณาการเขียนคู่มือปฏิบัติงาน
3. ใช้วางแผนหรือกำหนดแผนงานบำรุงรักษา โดยการนำเอาผลการวิเคราะห์แนวโน้มซึ่งคาดว่าเครื่องจักรจะถึงกำหนดการชำรุดเมื่อใด
4. ใช้เป็นแนวทางของการจัดเตรียมอะไหล่สำหรับการซ่อมและบำรุงตลอดจน การจัดเตรียมงาน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องอีกด้วย
5. ใช้เป็นข้อมูลในการวิจัยเครื่องจักรนั้น เพื่อพิจารณา ว่าสมควรจะใช้ต่อไปหรือสมควรเลิกใช้ หรือควรจะปรับปรุงอย่างไร


            การจัดบำรุงรักษาให้มีประสิทธิภาพ
          การจัดบำรุงรักษาให้มีประสิทธิภาพจำเป็นจะต้องทราบถึงอุปสรรคต่าง ๆ อย่างชัดเจนและพยายามขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเหล่านั้นแล้ว กำหนดเป็นแนวทางที่แน่นอนในการบำรุงรักษาต่อไป
1. อุปสรรคที่มีผลต่อการบำรุงรักษา
2. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบำรุงรักษา

 

    << Go Back