<< Go Back

ความหมายของคำสันธาน

คำสันธาน หมายถึง คำที่ใช้เชื่อมคำหรือข้อความให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน ประโยคจะมีความกระชับ และสละสลวยขึ้น เช่นคำว่า และ แล้ว จึง แต่ หรือ เพราะ เหตุเพราะ เป็นต้น เช่น
    - เขาอยากเรียนหนังสือเก่งๆ แต่เขาไม่ชอบอ่านหนังสือ
    - เขามาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก

ชนิดของคำสันธาน
หลักภาษาไทยได้แบ่งคำสันธานออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
1. คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า และ ทั้ง...และ ทั้ง...ก็ ครั้น...ก็ ครั้น...จึง ก็ดี เมื่อ...ก็ว่า พอ...แล้ว เช่น
    - ทั้งพ่อและแม่ของผมเป็นคนใต้
    - พอทำการบ้านเสร็จแล้วฉันก็นอน
    - พอฝนหยุดตกกบเขียดก็ร้องส่งเสียงระงม
    - น้องกับพี่ไปโรงเรียน

2. คำสันธานที่เชื่อมความขัดแย้งกัน เช่นคำว่า แต่ แต่ว่า กว่า...ก็ ถึง...ก็ เป็นต้น เช่น
    - ผมต้องการพูดกับเขา แต่เขาไม่ยอมพูดกับผม
    - กว่าเราจะเรียนจบเพื่อนๆ ก็ทำงานหมดแล้ว
    - ถึงเขาจะยากจนแต่เขาก็มีความสุข
    - เขาวิ่งเร็วมากแต่ว่าไม่เหนื่อยเลย

3. คำสันธานที่เชื่อมข้อมความให้เลือก ได้แก่คำว่า หรือ หรือไม่ ไม่...ก็ หรือไม่ก็ ไม่เช่นนั้น มิฉะนั้น...ก็ เป็นต้น เช่น
    - นักเรียนชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือภาษาไทย
    - เธอคงไปซื้อของหรือไม่ก็ไปดูหนัง
    - เพราะเขาขยันอ่านหนังสือ เขาจึงสอบผ่าน
    - เขาเกียจคร้านจึงสอบตก

4. คำสันธานที่เชื่อมความที่เป็นเหตุเป็นผล ได้แก่คำว่า เพราะ เพราะว่า ฉะนั้น...จึง ดังนั้น เหตุเพราะ เหตุว่า เพราะฉะนั้น...จึง เป็นต้น เช่น
    - นักเรียนมาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
    - เธอจะไปกับผมหรือเธอจะไปกับเขา
    - คุณต้องเข้าห้องสอบก่อนเวลา 9.00 น. มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ในการสอบ

หน้าที่ของคำสันธาน
1. เชื่อมคำกับคำ
    - ผักกาดและหัวหอมเป็นพืชสวนครัว
    - เธอชอบสีแดงหรือสีส้ม
2. เชื่อมข้อความกับข้อความ
    - การส่งเสียงดังในห้องสมุดเป็นการกระทำที่ไม่ดีรบกวนผู้อื่นเพราะฉะนั้นจึงต้องมีกฎห้ามส่งเสียงดังติดประกาศไว้
    - คนเราต้องการอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้
3. เชื่อมประโยคกับประโยค
    - พี่เป็นคนขยันแต่น้องเกียจคร้านมาก
    - เราหวงแหนแผ่นดินไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา
4. เชื่อมความให้สละสลวย
    - คนเราก็ต้องมีผิดพลาดกันบ้างเป็นธรรมดา
    - ฉันก็เป็นคนจริงคนหนึ่งเหมือนกัน

ข้อสังเกต
1. คำสันธานบางคำใช้เข้าคู่กัน เช่น ไม่…ก็ , กว่า…ก็ , เพราะ…จึง , ถึง…ก็ , แม้…ก็ เป็นต้น
2. คำสันธานอาจอยู่ในตำแหน่งต่างๆในประโยคก็ได้ เช่น
    อยู่ระหว่างคำ : อีฟชอบสีม่วงและสีขาว
    อยู่หลังคำ : คนก็ดี สัตว์ก็ดี รักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
    อยู่คร่อมคำ : ถึงเป็นเพื่อนก็อย่าวางใจ
    อยู่ระหว่างประโยค : ตูนจะดื่มน้ำส้มหรือดื่มนม
    อยู่หลังประโยค : เราจะทำบุญก็ตาม บาปก็ตาม ควรคิดถึงผลกรรม
    อยู่คร่อมประโยค : แม้เต้จะกินมากแต่เต้ก็ไม่อ้วน
3. ประโยคที่มีคำสันธานนั้นจะแยกออกเป็นประโยคย่อยได้ตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป
4. คำบางคำเป็นได้ทั้งคำสันธานและคำบุพบท เช่น คำว่า "เมื่อ" ให้พิจารณาว่าถ้าสามารถแยกเป็น 2 ประโยคได้ก็เป็นคำสันธาน เช่น "เมื่อ 16 นาฬิกา อาร์ทได้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว" ( เป็นคำบุพบท ) "เมื่อเราได้ยินเสียงระฆัง หมวยได้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว" ( เป็นคำสันธาน ) เป็นต้น
5. คำว่า "ให้" เมื่อนำมาใช้เชื่อมประโยคก็จัดเป็นคำสันธาน เช่น "เขาทำท่าตลกให้เด็กหยุดร้องไห้" เป็นต้น
6. คำว่า "ว่า" เมื่อนำมาใช้เชื่อมระหว่างประโยคก็จัดเป็นคำสันธาน เช่น "หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่ามีการกวาดล้างพวกมิจฉาชีพครั้งใหญ่" เป็นต้น
7. คำประพันธสรรพนามหรือคำสรรพนามเชื่อมประโยค คือ คำว่า "ผู้ ที่ ซึ่ง อัน" จัดเป็นคำสันธานด้วย
    สตรีผู้มีความงามย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
    คนที่กำลังเล่นกีตาร์นั่นเป็นพี่ชายของวี
    ฝ้ายอยู่ในตลาดซึ่งมีคนพลุกพล่าน

 

 

ขอบคุณที่มา

https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/language/10000-7934.html
http://xn--22ceik4cvaj1fxe6bq2rle.blogspot.com/2012/09/blog-post_9.html
https://sites.google.com/site/phasathiykhrucin/chnid-khxng-kha-ni-phasa-thiy/kha-santhan

<< Go Back