<< Go Back

ประเภทของ "วินัย"
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2529 : 2-63) ได้จัดจำแนกระเบียบวินัยออกเป็น 3 ประเภท ดังปรากฏในเอกสารคำสอน ชุดการปลูกฝังและเสริมสร้างค่านิยมพื้นฐานการมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ดังนี้
1. การมีระเบียบวินัยในการศึกษาเล่าเรียน หมายถึง การที่นักเรียนสามารถควบคุมตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอย่างมีระเบียบแบบแผน มีเหตุผลและเป้าหมายในการเพิ่มพูนความรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง โดยการจัดตารางเวลาไว้สำหรับศึกษาเล่าเรียนและการควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามตารางดังกล่าวได้ มีความตั้งใจเล่าเรียนอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ วิชา มีการเตรียมตัวอ่านบทเรียนมาก่อนที่จะถึงเวลาเรียนและทบทวนบทเรียนทุกครั้งภายหลังจากการเรียน เข้าเรียนตรงเวลา ไม่ลอกคำตอบจากเพื่อน อีกทั้งต้องไม่เปิดโอกาสหรือยินยอมให้เพื่อนลอกคำตอบในเวลาสอบ มีการเตรียมอุปกรณ์การเรียนอย่างครบถ้วนและพร้อมสำหรับการใช้อยู่ตลอดเวลา
2. การมีระเบียบวินัยในที่อยู่อาศัย หมายถึง การที่นักเรียนสามารถควบคุมตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในการรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีการจัดตกแต่งที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ ไม่รับประทานอาหารในห้องนอน จัดแบ่งเนื้อที่ภายในบ้านให้เป็นสัดส่วนเหมาะสมต่อการทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งต้องไม่คุย หัวเราะ จัดงานสังสรรค์ ตลอดทั้งการเปิดโทรทัศน์เสียงดังรบกวนผู้อื่น
3. การมีระเบียบวินัยในสังคม หมายถึง การที่นักเรียนสามารถประพฤติปฏิบัติอย่างมีระเบียบแบบแผน ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เคารพปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับของสังคม รู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ ละเว้น การใช้อภิสิทธิ์โดยรับบริการและให้ บริการที่เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง อีกทั้งมีมารยาทในการใช้ถนน การขับขี่ยานพาหนะ โดยการปฏิบัติตามกฎจราจร และมีการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เมื่อรู้เห็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและกฎหมาย

ส่วนกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544 : 100) ได้กล่าวถึงประเภทของระเบียบวินัยไว้ในเอกสารเสริมความรู้สำหรับครู กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยจริยศึกษา ดังนี้
1. ระเบียบวินัยภายนอก ได้แก่
1.1 การรักษาระเบียบวินัยในการบริโภค เช่น การรับประทานอาหารให้ถูกหลักอนามัยและสุขวิทยา รับประทานอาหารเป็นเวลา มีมารยาทเรียบร้อยในการรับประทานอาหาร
1.2 การรักษาระเบียบวินัยในการอุปโภค เช่น การรักษาร่างกาย เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย
1.3 การรักษาระเบียบวินัยต่อสถานที่ เช่น การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งในสำนักงาน วัดวาอาราม สถานที่ราชการ และสาธารณะสถานต่างๆ โดยการประพฤติปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของสถานที่นั้นๆ
1.4 การรักษาระเบียบวินัยในการปกครอง เช่น การสร้างวินัยเพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติ เอาใจใส่กวดขัน โดยปรับปรุงระเบียบต่างๆ ให้มีมาตรฐานและถือปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง
2. ระเบียบวินัยภายใน ได้แก่
2.1 ระเบียบท่วงที เช่น การจัดท่าทางท่วงทีให้มีความเหมาะสมทั้งแก่ฐานะและภูมิรู้ของตนเอง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่นและไม่ทะนงตน
2.2 ระเบียบกิริยา เช่น การควบคุมอาการของร่างกายที่เคลื่อนไหวให้ปรากฏแก่คนทั่วไป โดยควบคุมและปรับปรุงกิริยาให้งดงาม มีความเป็นระเบียบ มีกิริยาดี สุภาพ อ่อนโยน มีการประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องตามกาลเทศะ
2.3 ระเบียบวาจา เช่น การพูดสมานไมตรี พูดไพเราะ พูดดีมีประโยชน์ ไม่พูดคำซึ่งเป็นเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ และไม่พูดจาเพ้อเจ้อ
2.4 ระเบียบใจ เช่น การรู้จักที่จะควบคุมอารมณ์และจิตใจให้อยู่ในกรอบที่ดีงาม


         https://mewinine.wordpress.com/ประเภทของ-วินัย/

<< Go Back